ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการเรียนภาษาอังกฤษของนักศึกษาสถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตภาคใต้: กรณีศึกษาปัจจัยด้านทัศนคติและแรงจูงใจ
Factors Affecting Students’ English Learning at the Institutes of Physical Education, in Southern-Region Campuses: A Case Study of Attitudes and Motivation

: ชื่อผู้วิจัย นางสาวสุภาพร คล้ายฉิม
: ตำแหน่ง -
: หลักสูตรและการเรียนรู้
: ปี 2555
: 511

logo onec

บทคัดย่อ (Abstract)

การวิจัยนี้มุ่ง (1) ศึกษาทัศนคติในการเรียนภาษาอังกฤษของนักศึกษาสถาบันการพลศึกษาใน 4 วิทยาเขตภาคใต้และเปรียบเทียบทัศนคติระหว่างนักศึกษา 3 คณะ (2) ศึกษาแรงจูงใจในการเรียนภาษาอังกฤษและเปรียบเทียบแรงจูงใจระหว่างนักศึกษา 3 คณะ กลุ่มตัวอย่างในการศึกษาเป็นนักศึกษาจำนวน 346 คน ซึ่งศึกษาอยู่ในทั้ง 3 คณะ ของสถาบันการพลศึกษาทั้ง 4 วิทยาเขตในภาคใต้ เครื่องมือวิจัยประกอบด้วยแบบสอบถามทัศนคติและแรงจูงใจในการเรียน และแบบสัมภาษณ์

ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้

1. นักศึกษามีทัศนคติที่ดีต่อการเรียนภาษาอังกฤษ กล่าวคือนักศึกษามีทัศนคติที่ดีต่อภาษาอังกฤษ ประเด็นที่เด่นชัดคือนักศึกษาเห็นด้วยอย่างยิ่งว่าภาษาอังกฤษมีความสำคัญสำหรับการศึกษาต่อในอนาคต การพัฒนาประเทศ และการสื่อสารในชีวิตประจำวัน นักศึกษามีทัศนคติที่ดีต่อเจ้าของภาษาและวัฒนธรรม ประเด็นที่สำคัญคือนักศึกษาอยากไปเที่ยวประเทศเจ้าของภาษาและนักศึกษาอยากมีเพื่อนที่เป็นเจ้าของภาษา นอกจากนี้นักศึกษาก็มีทัศนคติที่ดีต่อกระบวนการเรียน ประเด็นที่สำคัญคือนักศึกษาชื่นชมความสามารถของผู้สอน นักศึกษาเห็นว่าความผิดพลาดทางภาษาระหว่างการฝึกฝนไม่ใช่เรื่องน่าอาย และการเข้าชั้นเรียนวิชาภาษาอังกฤษเป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติอย่างยิ่ง

เมื่อเปรียบเทียบทัศนคติของนักศึกษาที่เรียนคณะต่างกัน พบว่านักศึกษามีทัศนคติต่อภาษาอังกฤษ ทัศนคติต่อเจ้าของภาษาและวัฒนธรรม และทัศนคติต่อกระบวนการเรียนไม่แตกต่างกัน

2. นักศึกษามีแรงจูงใจสูงในการเรียนภาษาอังกฤษไม่ว่าจะเป็นแรงจูงใจภายใน แรงจูงใจภายนอก แรงจูงใจเชิงบูรณาการ หรือแรงจูงใจเชิงเครื่องมือ แรงจูงใจภายในที่สำคัญที่สุดคือนักศึกษาสนใจวิชาภาษาอังกฤษและนักศึกษาต้องการพัฒนาความสามารถด้านภาษาอังกฤษ แรงจูงใจภายนอกที่สำคัญที่สุดคือนักศึกษาต้องการเรียนให้ครบตามหลักสูตรของสถาบัน นักศึกษาอยากได้ผลการเรียนที่ดีและนักศึกษาเห็นว่าสังคมยกย่องผู้มีความสามารถด้านภาษาอังกฤษ แรงจูงใจเชิงบูรณาการที่สำคัญที่สุดคือนักศึกษาหวังที่จะไปท่องเที่ยวในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษและนักศึกษาต้องการพูดภาษาอังกฤษให้เหมือนกับเจ้าของภาษา แรงจูงใจเชิงเครื่องมือที่สำคัญที่สุดคือนักศึกษาเห็นว่าภาษาอังกฤษช่วยในการสืบค้นข้อมูลต่างๆ เช่น จากอินเตอร์เน็ต ความสามารถด้านภาษาอังกฤษช่วยให้นักศึกษาหางานทำได้ง่าย นักศึกษาจะได้มีความก้าวหน้าในอาชีพการงานถ้ามีความสามารถด้านภาษาอังกฤษ และจะได้ใช้ความสามารถด้านภาษาอังกฤษเป็นพื้นฐานในการศึกษาต่อ

เมื่อเปรียบเทียบแรงจูงใจของนักศึกษาที่เรียนคณะต่างกัน พบว่าในภาพรวมนักศึกษามีแรงจูงใจภายใน แรงจูงใจภายนอก แรงจูงใจเชิงบูรณาการ และแรงจูงใจเชิงเครื่องมือไม่แตกต่างกัน

`

ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการเรียนภาษาอังกฤษของนักศึกษาสถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตภาคใต้: กรณีศึกษาปัจจัยด้านทัศนคติและแรงจูงใจFactors Affecting Students’ English Learning at the Institutes of Physical Education, in Southern-Region Campuses: A Case Study of Attitudes and Motivation is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.