การวิจัยนำร่องการพัฒนาหลักสูตรการผลิตครูสำหรับศตวรรษที่ 21
The Pilot Study Development of Teachers Curriculum for 21st Century
: ชื่อผู้วิจัย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฤตินันท์ สมุทร์ทัย
: ตำแหน่ง นักวิชาการศึกษา
: ครูและบุคลากรทางการศึกษา
: ปี 2556
: 7946
บทคัดย่อ (Abstract)
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์และเปรียบเทียบหลักสูตรการผลิตครูที่ใช้ในปัจจุบันของคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่กับแนวคิดหลักสูตรสำหรับอนาคตที่เกี่ยวข้องสอดคล้องกับการผลิตครูสำหรับศตวรรษที่ 21 เพื่อพัฒนาหลักสูตรการผลิตครูสำหรับศตวรรษที่ 21 และเพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายในการพัฒนาหลักสูตรการผลิตครูสำหรับศตวรรษที่ 21 ประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ประกอบด้วย อาจารย์ เจ้าหน้าที่ ผู้บริหารคณะฯ และนักศึกษาที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตรการผลิตครูของคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปีการศึกษา 2555 แนวคิดที่นำมาใช้ในการพัฒนาหลักสูตรครั้งนี้ได้แก่ แนวคิดหลักสูตรการผลิตครูสำหรับอนาคตของเซอร์ไมเคิล บาร์เบอร์ E (K +T + L) แนวคิดเกี่ยวทักษะแห่งอนาคตใหม่ การศึกษาเพื่อศตวรรษที่ 21 แนวคิดสมรรถนะหลัก (Competency) ของครูในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แนวคิดสมรรถนะครูไทยที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้กำหนดไว้ แนวคิดจากกรอบมาตรฐานวิชาชีพครูของคุรุสภา และแนวคิดหลักสูตรการผลิตครูในปัจจุบันของคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แล้วสังเคราะห์เป็นแนวคิดหลักสูตรการผลิตครูสำหรับศตวรรษที่ 21 พัฒนาและทดลองใช้ในการจัดการเรียนการสอนกับนักศึกษา เป็นเวลา 1 ภาคการศึกษา ใน 4 กระบวนวิชา และจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้การแจงนับความถี่ คำนวณค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ยและการวิเคราะห์เนื้อหา ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้
1. ผลการสังเคราะห์แนวคิดที่เกี่ยวข้องกับการผลิตครูสำหรับศตวรรษที่ 21 พบว่าองค์ประกอบของหลักสูตรการผลิตครูสำหรับศตวรรษที่ 21 ควรมี 5 องค์ประกอบคือ 1) ความสามารถพื้นฐานทางจริยธรรม (Ethical Underpinning) 2) ความรู้ที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิต (Knowledge) 3) ความสามารถในการคิด (Thinking) 4) ความสามารถในการนำตนเอง (Leadership) และ 5) สมรรถนะที่จำเป็นในการประกอบวิชาชีพครู (Competency) โดยเขียนในรูปของสมการได้ว่า Well-educatedness = E (K + T + L + C) และจากการวิเคราะห์และเปรียบเทียบหลักสูตรการผลิตครูของคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ใช้ในปัจจุบันกับแนวคิดองค์ประกอบของหลักสูตรการผลิตครูสำหรับศตวรรษที่ 21 พบว่ามีความสอดคล้องกัน แต่ในการนำแนวคิดหลักสูตรไปปฏิบัติยังไม่สามารถพัฒนาผู้เรียนได้ครอบคลุมทุกองค์ประกอบในทุกวิชาของหลักสูตร
2. ผลการนำแนวคิดหลักสูตรการผลิตครูสำหรับศตวรรษที่ 21 ไปพัฒนาและทดลองใช้ในการจัดการเรียนการสอนกับนักศึกษาแล้วพบว่าสามารถพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณลักษณะตามองค์ประกอบของหลักสูตรการผลิตครูสำหรับศตวรรษที่ 21 ได้เป็นอย่างดี
3. ผลการศึกษาข้อเสนอเชิงนโยบายในการพัฒนาหลักสูตรการผลิตครูสำหรับศตวรรษที่ 21 ได้ข้อเสนอดังนี้
3.1. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการผลิตครู เช่น สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา สภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ควรขานรับแนวคิดการพัฒนาหลักสูตรการผลิตครูสำหรับศตวรรษที่ 21 ได้จากการวิจัยครั้งนี้โดยร่วมกันกำหนดวิสัยทัศน์และแนวทางการจัดการศึกษาด้านวิชาชีพครูให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
3.2 หน่วยงานที่รับผิดชอบต่อการพัฒนาหลักสูตรผลิตครู ได้แก่
3.2.1 คณะศึกษาศาสตร์/ครุศาสตร์ เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการผลิตครูโดยตรง ควรกำหนดเป้าหมายของการผลิตครูและกำหนดคุณลักษณะที่สำคัญเพื่อเป็นเอกลักษณ์ของบัณฑิตครูโดยการมีส่วนร่วมของบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการผลิตบัณฑิต รวมทั้งการสร้างความตระหนักและความเข้าใจที่ตรงกันให้กับบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการผลิตบัณฑิตครูสำหรับศตวรรษที่ 21
3.2.2 สาขาวิชาต่าง ๆ ที่เป็นผู้รับผิดชอบในการพัฒนาหลักสูตรของสาขาวิชาควรทำความเข้าใจในเป้าหมายการผลิตครูและคุณลักษณะของบัณฑิตครูสำหรับศตวรรษที่ 21 เพื่อนำไปใช้ในการจัดทำหลักสูตร และการนำหลักสูตรไปใช้
3.2.3 อาจารย์ผู้สอนควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับเป้าหมาย วัตถุประสงค์ โครงสร้าง และการนำหลักสูตรไปใช้ โดยเน้นการจัดการเรียนรู้เพื่อให้นักศึกษาครูเกิดทักษะครูเพื่อศิษย์ไทยในศตวรรษที่ 21 ที่ยึดหลัก “สอนน้อย เรียนมาก” เช่นการออกแบบการจัดการเรียนรู้แบบ PBL หรือ RBL ฯลฯ
การวิจัยนำร่องการพัฒนาหลักสูตรการผลิตครูสำหรับศตวรรษที่ 21The Pilot Study Development of Teachers Curriculum for 21st Century is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.