ทักษะแรงงานไทยในอนาคตที่พึงประสงค์
Desirable Skills of the Future Thai Labor

: ชื่อผู้วิจัย ศาสตราจารย์ ดร.เกื้อ วงศ์บุญสิน
: ตำแหน่ง นักวิชาการศึกษา
: นโยบายการศึกษา
: ปี 2546
: 1074

logo onec

บทคัดย่อ (Abstract)

การศึกษานี้มุ่งเน้นให้ทราบถึงแนวโน้มความต้องการที่มีต่อทักษะแรงงานไทยในช่วง 15 ปีข้างหน้า และแนวยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมต่อการพัฒนาทักษะแรงงานไทย โดยเน้นประชากร 5 กลุ่มคือทรัพยากรมนุษย์ในภาพรวม กลุ่มนิสิตนักศึกษาที่จบการศึกษาในระดับอุดมศึกษาและระดับ ปวช./ปวส. กลุ่มนิสิตนักศึกษาปีที่ 1 ระดับอุดมศึกษา กลุ่มนักเรียนในระดับ ปวช./ปวส. และกลุ่มนักเรียนที่จบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งกำลังจะแยกศึกษาสายสามัญและสายอาชีวะ หรือจะเข้าสู่ตลาดแรงงาน

ข้อค้นพบของการศึกษาซึ่งจะนำเสนอในภาพสรุปต่อไปนี้ได้มาจากความคิดเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิที่มีองค์ความรู้เกี่ยวกับทรัพยากรมนุษย์

ในช่วง 15 ปีข้างหน้า การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของไทยจำเป็นต้องเน้นในเชิงคุณภาพมากกว่าในเชิงปริมาณ อีกทั้งจำเป็นต้องเน้นการปรับปรุงด้านการบริหารและกระบวนการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เอื้อต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต ทั้งนี้เพราะแนวโน้มความต้องการด้านปริมาณของแรงงานไทยในช่วง 15 ปีข้างหน้าจะเพิ่มปริมาณขึ้นอีกเพียง 10 ปีเท่านั้น จากนั้นความต้องการด้านปริมาณของแรงงานจะชะลอตัวลงจนถึงระดับคงที่ในช่วง 11-15 ปีข้างหน้า ในขณะที่ความต้องการทรัพยากรมนุษย์ในเชิงคุณภาพเพิ่มขึ้น ทักษะแรงงานไทยในอนาคตที่พึงประสงค์จะเกี่ยวข้องกับด้านคุณสมบัติของแรงงานเป็นส่วนใหญ่ โดยมีจุดเน้นที่ทักษะเทคนิคที่เหมาะสมกับวิชาชีพ ทักษะในการบริหารจัดการ และทักษะทางภาษา

จากข้อค้นพบข้างต้น การพัฒนาทักษะแรงงานของไทยในช่วง 15 ปีข้างหน้าจำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ว่าด้วยการปฏิรูป

การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งต้องมีลักษณะของความเป็นองค์รวม เอื้อต่อการปรับตัวได้ตลอดเวลาอย่างมีวิสัยทัศน์โดยอิงฐานข้อมูล ควรมีการผสมผสานการศึกษาอย่างเป็นทางการกับการพัฒนาทักษะการทำงาน โดยเน้นการเรียนรู้ผ่านกระบวนการปฏิบัติ และการศึกษาอย่างเป็นทางการ ควรได้รับการปรับปรุงในลักษณะที่เอื้ออำนวยให้ผู้เรียนสามารถใช้ความคิดอย่างมีประสิทธิภาพ

การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในภาพรวมของไทยนับจากนี้ไปจำเป็นต้องเน้นใน 5 ประเด็นหลัก คือ การจัดการความรู้ที่เข้าถึงกระบวนการเรียนรู้ การสร้างวัฒนธรรมคุณภาพของการศึกษา การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณธรรมและจริยธรรม การฝึกผู้เรียนให้มีนิสัยการเรียนรู้ตลอดชีวิต และการรักษาความเป็นไทยให้คงอยู่ในกระแสนานาชาติ ในส่วนของผู้สำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษาและระดับ ปวช./ปวส. จะเน้นในเชิงคุณภาพ กล่าวคือ บัณฑิตจะต้องมีความรู้ในรูปสหสาขาวิชา (multidisciplinary knowledge)

ที่มีความสมดุลระหว่างความรู้ทางวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ สามารถเรียนรู้ด้วยตนเอง มีทักษะที่ดีทั้งการฟัง พูด อ่าน และเขียน ตลอดจนมีความรู้ทั้งภาษาอังกฤษและคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้เนื่องจากสังคมในอนาคตเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้และมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ส่วนนิสิตนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ในระดับอุดมศึกษาควรมีคุณลักษณะเช่นเดียวกัน กล่าวคือควรมีความสามารถ คุณลักษณะ และทัศนคติที่ครอบคลุมความรู้ความสามารถทั่วไป มีทักษะพื้นฐานความชำนาญเฉพาะทางเพื่อประกอบอาชีพได้ สำหรับผู้ที่ศึกษาอยู่ในระดับ ปวช./ปวส. ควรเน้นในด้านการพัฒนาความรู้ทางวิชาการเกี่ยวกับอาชีพและทักษะในวิชาชีพที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการประกอบอาชีพ โดยความรู้และทักษะที่จำเป็น ได้แก่ ทักษะด้านความคิดและการประมวลผล ด้านการปฏิบัติงาน ด้านเทคนิค ด้านการบริหาร ด้านมนุษยสัมพันธ์ และด้านการสื่อสาร และในระดับของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ควรเน้นให้มีลักษณะนิสัยและความคิดที่ดี ซึ่งจะต้องมีคุณลักษณะที่คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาได้ เป็นที่พึ่งพาได้ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น โดยผ่านวิธีการศึกษาด้านการปฏิบัติ และควรมีวุฒิภาวะเพียงพอที่จะรู้ว่าตนเองต้องการฝึกอาชีพหรือศึกษาต่อในสายสามัญหรือสายอาชีวะ รวมทั้งรู้วิธีการศึกษาด้วยตนเองอีกด้วย

การเตรียมแรงงานให้พร้อมที่จะเข้าสู่สังคมสารสนเทศ ซึ่งทำได้โดยการปรับปรุงหลักสูตรให้เป็นแบบสหสาขาวิชาที่เน้นการพัฒนาความคิดวิเคราะห์ และควรให้ผู้เรียนได้ฝึกปฏิบัติในสถานประกอบการ รวมทั้งให้มีการพัฒนาความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคข้อมูลข่าวสาร ดังนั้นยุทธศาสตร์สำหรับระดับอุดมศึกษาตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 ขึ้นไป จึงควรเน้น

การปรับปรุงการศึกษาทั้งด้านพื้นฐานและสมรรถนะพื้นฐาน รวมถึงหลักสูตรการเรียนการสอนต้องเอื้อต่อแนวโน้มในอนาคตด้วย ส่วนระดับ ปวช./ปวส. ควรเน้นยุทธศาสตร์เช่นเดียวกับระดับอุดมศึกษาและเพิ่มทักษะภาษาไทย ภาษาอังกฤษหรือภาษาธุรกิจ ความสามารถด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี นอกจากนี้ควรเน้นการเรียนและการฝึกอบรมระบบสมรรถนะฐานแบบที่สอดคล้องและสนองความต้องการของตลาดแรงงาน และระดับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ควรเน้นการเสริมเรื่องจิตวิสัย การสร้างอาชีพ และการสร้างจิตสำนึก โดยผู้บริหารควรมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล และควรปรับปรุงการเรียนการสอนให้แข่งขันกับนานาชาติได้ ทั้งนี้ทักษะแรงงานไทยในอนาคตที่พึงประสงค์ของทรัพยากรมนุษย์ทุกระดับ ควรมีทักษะพื้นฐานอันได้แก่ ความรู้ภาษาอังกฤษและ IT ทำงานเป็นทีม ประยุกต์ได้ แก้ปัญหาเป็น มีทัศนคติที่ดี รู้วิธีการเรียน สู้งาน และสามารถพัฒนาความรู้ของตนเองได้ โดยที่ระดับปวช./ปวส. ควรเพิ่มทักษะอาชีพขั้นพื้นฐาน เทคนิคเฉพาะและความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศ สำหรับระดับนิสิตนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ควรมีทักษะเพิ่มเติมด้านความรู้ทางวิชาการ วิชาชีพ และวิชาชีวิต รวมถึงการมีความคิดริเริ่ม และในส่วนของผู้ที่สำเร็จการศึกษาควรต้องมีทักษะเพิ่มเติมด้านความรู้ความสามารถในสาขาที่ตนเรียนเพื่อประกอบอาชีพ ทักษะด้านการบริหารจัดการ กระบวนการวิจัยรวมถึงการมีนิสัยการเรียนรู้ตลอดชีวิต

การพัฒนาทักษะการทำงานสำหรับระดับอุดมศึกษาควรให้มีการฝึกฝนหลายรูปแบบแล้วแต่อาชีพตามทิศทางการพัฒนาประเทศ และควรร่วมมือกับสถานประกอบการในระดับนักเรียน ปวช./ปวส. ควรปรับปรุงกรอบกติกาทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อปฏิรูปองค์กรที่รับผิดชอบในการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกนักเรียนให้บรรลุตามเป้าหมายตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมทั้งปรับปรุงแก้ไขทรัพยากรมนุษย์ทุกระดับด้านความรู้และทักษะฝีมือ ส่วนนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ควรสร้างระบบแนะแนวอาชีพ และให้มีการเชื่อมโยงกันในสังคมเพื่อคิดค้นและพัฒนาทักษะการทำงาน โดยการเชื่อมโยงและช่วยเหลือกันภายในกลุ่มอุตสาหกรรม ในเรื่องของการผสมผสานการศึกษากับการพัฒนาทักษะการทำงาน สำหรับระดับอุดมศึกษาควรเน้นสถานศึกษาฝึกผู้เรียนให้มีความรู้พื้นฐานที่เหมาะสมและเป็นฐานสำหรับการต่อยอดการพัฒนาทักษะ ศักยภาพ และการเรียนรู้เพิ่มเติมได้ ส่วนนิสิตนักศึกษาในชั้นปีที่ 1 ควรจัดให้มีการร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาและสถานประกอบการในการฝึกงานเพื่อสอดรับกับความต้องการของตลาดแรงงาน และนักเรียนในระดับ ปวช./ปวส. ควรมีการปฏิรูปและเปลี่ยนแปลงแนวคิดในเรื่องการจัดหลักสูตรการเรียนการสอนเป็นแบบการศึกษาที่เน้นการปฏิบัติ สำหรับนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ควรเน้นตัวผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งการศึกษาขั้นพื้นฐานจะต้องทำให้ผู้เรียนพัฒนาตนเองต่อไปได้

การประเมินศักยภาพด้านการจัดการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ประเด็นที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ควรให้การประเมินศักยภาพของการจัดการด้านพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการพัฒนาการศึกษาทุกระดับ สำหรับระดับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ควรประเมินเรื่องการประกันคุณภาพการศึกษาแผนพัฒนาครู การจัดทำมาตรฐานกลุ่มอาชีพและมาตรฐานชาติ วัย และการฝึกฝน ตลอดจนหน่วยงานที่ทำการประเมิน ส่วนระดับ ปวช./ปวส. การประเมินผลควรใช้มาตรฐานระบบสากลเกี่ยวกับการวิเคราะห์จุดคุ้มทุนและผลตอบแทนทางเศรษฐกิจเปรียบเทียบระยะสั้นกับระยะยาว และระดับนิสิตนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ควรมีการประเมินทั้งแบบภายในและภายนอกในเรื่องของความรู้ ทักษะ และความสามารถที่ปฏิบัติงานได้จริง ทัศนคติ และศักยภาพในการพัฒนา สำหรับผู้ที่สำเร็จการศึกษาควรทำการประเมินโดยการออกใบอนุญาต และการควบคุมคุณภาพภายใน ทั้งนี้หน่วยงานที่ทำการประเมินอาจเป็นหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานเฉพาะกิจก็ได้ แต่ในท้ายสุดตลาดจะเป็นผู้ประเมินที่แท้จริง

`

ทักษะแรงงานไทยในอนาคตที่พึงประสงค์Desirable Skills of the Future Thai Labor is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.