โครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ในการจัดการปัญหาและพัฒนาเยาวชนโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของเยาวชนและชุมชน
: ชื่อผู้วิจัย นางศรีศักดิ์ ไทยอารี
: ตำแหน่ง นักวิชาการศึกษา
: อื่นๆ
: ปี 2546
: 942
บทคัดย่อ (Abstract)
กรณีปัญหาความรุนแรงในกลุ่มนักเรียนอาชีวะเป็นประเด็นปัญหาหนึ่งในสองปัญหาที่โครงการวิจัยฯทำการศึกษา มีวัตถุประสงค์ คือ 1) ทบทวนองค์ความรู้ และประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหา 2) สังเคราะห์องค์ความรู้เติม ประสานกับแนวคิดการพัฒนาเยาวชนโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของนักเรียน และสถานศึกษา รวมทั้งเครือข่ายการทำงานเพื่อสร้างกิจกรรมที่นำไปสู่การพัฒนานักเรียนและแก้ไขปัญหาในระดับที่เห็นการเปลี่ยนแปลงทางคุณภาพของเยาวชนกลุ่มเป้าหมาย และเกิดกลไกการบริหาร จัดการ 3) เกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของกลไกฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหา เกิดบทเรียนที่จะเป็นแนวทางในการพัฒนาเยาวชน นักเรียน นักศึกษา และแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน พื้นที่การศึกษา ได้แก่ สถานศึกษาอาชีวศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน 13 แห่ง ในพื้นที่ใกล้เคียงกันย่านลาดพร้าว รามคำแหง มีนบุรี สุวินทวงศ์ และหนองจอก
ผลการศึกษาพบว่า โครงการวิจัยฯ ได้ศึกษากรณีปัญหาความรุนแรงและการทะเลาะวิวาทของนักเรียนอาชีวะโดยพิจารณาภูมิหลัง ปัญหาเชิงโครงสร้างและการบริหารจัดการ และเหตุปัจจัยที่เป็นตัวแปรของปัญหา ทั้งเหตุปัจจัยภายใน คือ ที่ตัวนักเรียน นักศึกษา และเหตุปัจจัยภายนอก คือ ระบบดูแลของสถานศึกษา สภาวการณ์ความรุนแรง ตัวกระตุ้น และสภาพทางภูมิศาสตร์ โดยพิจารณาจากบริบทที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับมหภาค และระดับจุลภาค ทำให้เกิดความเข้าใจปัญหาอย่างรอบด้านและตรงประเด็นมากขึ้น การศึกษาเหตุปัจจัยภายใน คือ ตัวนักเรียน นักศึกษา โครงการวิจัยฯ ใช้ทั้งการศึกษาเชิงปริมาณ โดยใช้เครื่องมือแบบสอบถาม และแบบวัดทัศนคติ และการศึกษาเชิงคุณภาพ โดยการสัมภาษณ์และการสังเกต พบว่านักเรียนนักศึกษาประมาณครึ่งหนึ่งมีทัศนคติที่ดีต่อการทะเลาะวิวาท มีเพียงประมาณร้อยละ 10.6 ที่มีความชัดเจนว่า การทะเลาะวิวาทเป็นเรื่องไม่ดี เหตุผลของการเกิดการทะเลาะวิวาทส่วนใหญ่ เป็นเรื่องหมั่นไส้ ยั่วยุ และเป็นการป้องกันตัว การศึกษาเหตุปัจจัยภายนอก พบว่าสถานศึกษาเป็นทั้งจุดเริ่มต้นและเป็นกลไกในการแก้ไขปัญหา การควบคุมสถานการณ์ความรุนแรงให้อยู่ในภาวะปกติเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะความรุนแรงจะชักนำให้เกิดความรุนแรงครั้งต่อไป การพิจารณาสภาพทางภูมิศาสตร์ทำให้เห็นคู่ขัดแย้งหลักและรอง ทำให้สามารถกำหนดขอบเขตความร่วมมือตามสภาพความเป็นจริง โครงการวิจัยฯ ได้กระตุ้นและสนับสนุนการทำงานของกลไกในการแก้ไขปัญหา คือ เครือข่ายความร่วมมือระหว่างสถานศึกษาและขยายความร่วมมือกับชุมชนและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
กรณีปัญหายาเสพติดจังหวัดเชียงใหม่ การวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อการพัฒนาองค์ความรู้ในการจัดการปัญหาและพัฒนาเด็ก เยาวชนโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของเด็กเยาวชนและชุมชนครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ในการจัดการปัญหายาเสพติดและพัฒนาเด็กเยาวชนอย่างมีส่วนร่วมของเด็กเยาวชนและชุมชนในเขตพื้นที่เทศบาลนครเชียงใหม่ ใช้เวลาดำเนินการเป็นเวลา 2 ปีด้วยการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research) ของเด็กเยาวชนและชุมชน โดยการจัดกิจกรรมต่างๆ ในการสร้างความตระหนักของชุมชน ประสานสัมพันธ์ระหว่างองค์กรที่เกี่ยวข้อง และพัฒนาศักยภาพเด็กเยาวชน รวมจำนวน 45 กิจกรรม และใช้วิธีวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ในการศึกษาสภาพแวดล้อมและบริบททางสังคม รวมทั้งพฤติกรรมของเด็กเยาวชน และใช้วิธีวิจัยเชิงปริมาณ ( Quantitative Research) เพื่อศึกษาจิตลักษณะภายในของเด็กเยาวชนในชุมชนและเด็กนักเรียนในชุมชนจำนวน 115 คน ทั้งก่อนและหลังเข้าร่วมกิจกรรม (Pretest - Posttest)
ผลการวิจัยพบว่า ในการจัดการปัญหายาเสพติดและพัฒนาเด็กเยาวชนนั้น ต้องไม่ใช้ปัญหาเป็นตัวตั้ง แต่ต้องให้ความสำคัญต่อการสร้างความไว้วางใจและการเข้าถึงกลุ่มเด็กเยาวชนเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เริ่มต้นด้วยการเข้าไปเป็นเพื่อนเที่ยว และรวมกลุ่มจัดกิจกรรมท่องเที่ยว เพื่อการศึกษา และกลุ่มสนใจอื่นๆ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้มีอิทธิพลทางทุจริตในเครือข่ายการค้ายาเสพติดนั้น ชุมชนมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการจัดการปัญหา แต่ไม่มีความมั่นใจในความปลอดภัย ต้องอาศัยการปฏิบัติงานที่รุกไปพร้อมกันทุกระดับของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะทำให้ชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการกับปัญหาได้มากขึ้น ส่วนในด้านการแก้ไขปัญหาผู้ติดยาเสพติดนั้น ชุมชน พ่อแม่ ผู้ปกครองและเด็กเยาวชนมีศักยภาพในการค้นหาผู้ติดยาเสพติด แต่ขาดความรู้ในการเตรียมความพร้อมให้ผู้ติดยาเสพติดสมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษา และมีความเข้าใจว่า ผู้ติดยาเสพติดเป็นผู้ป่วยแต่คิดว่าเป็นการป่วยเหมือนกับโรคอื่นๆ จึงทำให้ไม่เอื้อต่อการช่วยเหลือและแก้ไขผู้ติดยาเสพติดได้ในระยะยาว สำหรับกลุ่มเสี่ยงและเด็กเยาวชนที่ยังไม่มีปัญหายาเสพติดนั้น ต้องมีชุมชนเป็นฐานในการปฏิบัติการ (Community Base) ร่วมกับพ่อแม่ผู้ปกครองและมีองค์การที่เกี่ยวข้องเป็นฝ่ายสนับสนุนให้เด็กเยาวชนได้ค้นหาศักยภาพของตนเอง และรวมกลุ่มเป็นเจ้าของกิจกรรมเพื่อตนเอง และชุมชนทั้งในปัจจุบันและอนาคต ขณะเดียวกันต้องพัฒนาองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงทั้งทางกาย (Biology) ทางจิต (Psychology) และทางสังคม (Social) ที่ส่งผลต่อการแสดงออก หรือพฤติกรรมของเด็กเยาวชนให้เป็นเรื่องที่ง่ายต่อการสร้างความเข้าใจให้กับพ่อแม่ผู้ปกครอง เด็กเยาวชน ด้วยการใช้กิจกรรมกลุ่มเพื่อการเรียนรู้ร่วมกันแทนการบรรยายใช้เทคนิคทางจิตวิทยาเพื่อฝึกการวิเคราะห์และรู้จักตนเอง ตลอดจนการฝึกการควบคุมตนเอง การสร้างความเชื่ออำนาจในตนและพัฒนาจิตลักษณะภายในอื่นๆ เพื่อให้กำหนดรู้ทันกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางความคิดและการกระทำของตนอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการฝึกการออกแบบกิจกรรมการเฝ้าระวังตนเองและชุมชนร่วมกัน
กรณีปัญหายาเสพติดจังหวัดขอนแก่น เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม มุ่งให้เกิดการพัฒนาตนเองขององค์กรและชุมชน โดยองค์กรหรือชุมชนจะต้องวิเคราะห์และทำความรู้จักตนเองและร่วมมือกับนักวิจัยในการกำหนดเป้าหมายการแก้ปัญหา
ยาเสพติด กลุ่มเป้าหมายที่ทำงานเป็นหลัก คือเยาวชนและกลไกแวดล้อมตัวเยาวชน เช่น ผู้ปกครอง คุ้ม กลุ่ม ชุมชน เป็นต้น มุ่งเน้นสถานการณ์จากชุมชน เน้นการแก้ไขปัญหาจากภายในตัวเยาวชน กลุ่มเยาวชนและกลุ่มชุมชนเป็นผู้ร่วมมือแก้ไข หนุนเสริมการมีส่วนร่วมในการเสนอรูปแบบ วิธีการแก้ปัญหา เน้นกระบวนการสร้างความเข้าใจ ให้ความรู้ ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ ความคิด ความเชื่อของคนในชุมชน โดยอาศัยกลไกที่มีอยู่ในชุมชน ให้ชุมชนมีบทบาทร่วมกันแก้ไขปัญหา การวางแผนเชิงปฏิบัติการในพื้นที่ ทดลองให้หน่วยงานภายนอกมีบทบาทในการสนับสนุนโดยให้ข้อมูล ความรู้
โครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ในการจัดการปัญหาและพัฒนาเยาวชนโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของเยาวชนและชุมชน is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.