โครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ในการจัดการปัญหาความรุนแรงในกลุ่มนักเรียนอาชีวะ

: ชื่อผู้วิจัย นางศรีศักดิ์ ไทยอารี
: ตำแหน่ง นักวิชาการศึกษา
: อาชีวศึกษา
: ปี 2546
: 386

logo onec

บทคัดย่อ (Abstract)

โครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการฯ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ในการจัดการปัญหาความรุนแรงในกลุ่มนักเรียนอาชีวะ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ในการจัดการปัญหาและพัฒนาเยาวชน โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของเยาวชนและชุมชน โครงการวิจัยฯ ใช้เวลา 2 ปี ตั้งแต่เริ่มศึกษาเอกสาร และสถานการณ์ของพื้นที่เป้าหมายจนถึงการสรุปการศึกษา โดยมีเวลาในการปฏิบัติงานทดลองทำกิจกรรมต่างๆ กับกลุ่มเป้าหมาย 2 ภาคการศึกษา มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ทบทวนองค์ความรู้และประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหา 2) สังเคราะห์องค์ความรู้เดิม ประสานกับแนวคิดการพัฒนาเยาวชน โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของ นักเรียนและสถานศึกษา รวมทั้งเครือข่ายการทำงานเพื่อสร้างกิจกรรมที่นำไปสู่การพัฒนานักเรียนและแก้ไขปัญหาในระดับที่เห็นการเปลี่ยนแปลงทางคุณภาพของเยาวชนกลุ่มเป้าหมายและเกิดกลไกการบริหารจัดการ 3) เกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของกลไกฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหา เกิดบทเรียนที่จะเป็นแนวทางในการพัฒนาเยาวชน นักเรียน นักศึกษา และแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน โครงการวิจัยฯ พิจารณาปัญหาใน 3 ประเด็น คือ 1) เรื่องโครงสร้างเกี่ยวกับการบริหารจัดการ การอาชีวศึกษาทั้งระดับมหภาคและจุลภาค 2) เรื่องสถานการณ์ปัญหา 3) เรื่องเกี่ยวกับตัวนักเรียน พิจารณาโดยใช้มิติทางวัฒนธรรม คือ มองวิธีคิด การเคลื่อนไหว และอำนาจบังคับ โครงการใช้เครื่องมือการศึกษาวิจัยหลายวิธีคือ 1) ศึกษาด้วยการใช้แบบสอบถาม 3 ครั้ง คือ ก่อนวางแผนโครงการ 1 ครั้ง ระหว่างการดำเนินกิจกรรม 1 ครั้ง และเมื่อเสร็จสิ้นกิจกรรมทุกชนิดอีก 1 ครั้ง (ศึกษาโดยใช้แบบวัดทัศนคติ 2 ครั้ง คือ ระหว่างการดำเนินกิจกรรมและเมื่อเสร็จสิ้นกิจกรรม) 2) ศึกษาโดยการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่าง ทั้งนักเรียน อาจารย์ ตำรวจ และชาวบ้าน 3) ศึกษาโดยการสังเกตในขณะทำกิจกรรมในขณะไปประสานงานเยี่ยมเยียน 4) ศึกษาจากการให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจัดทำบทเรียน ข้อคิดเห็นของตนเอง (self-report) 5) ศึกษาจากการศึกษาของผู้อื่น ทั้งประเภทการศึกษาวิจัย และบทความต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลและข้อวิเคราะห์ สังเคราะห์ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการศึกษาเชิงคุณภาพ จากการมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ การสัมภาษณ์เชิงลึก และการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการ ข้อมูลเกี่ยวกับระบบการศึกษาเป็นข้อมูลก่อนเกิดการเปลี่ยนแปลงการบริหารราชการเมื่อเดือนกรกฎาคม 2546

แนวทางการปฏิบัติงานโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการฯ ได้กำหนดพื้นที่การศึกษาโดยใช้ที่ตั้งของสถานศึกษาที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน โดยมีสมมติฐานว่านักเรียนที่มีโอกาสกระทบกระทั่งกันมาก น่าจะอยู่บนเส้นทางที่ต้องสัญจรร่วมกัน ดำเนินการโดยใช้ยุทธศาสตร์การมีส่วนร่วมของสถานศึกษา และนักเรียน นักศึกษา โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมของสถานศึกษามีเครือข่ายอาชีวะสมานฉันท์กรุงเทพตะวันออก ซึ่งเป็นเครือข่ายของสถานศึกษาที่มีอยู่เดิมเป็นแกนในการทำงานร่วมกัน ตั้งแต่การแลกเปลี่ยนแนวคิด การวิเคราะห์ปัญหา การวางแผน การปฏิบัติการ และการสรุปประเมินผล

`

โครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ในการจัดการปัญหาความรุนแรงในกลุ่มนักเรียนอาชีวะ is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.