การวิจัยและพัฒนารูปแบบการปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งโรงเรียน

: ชื่อผู้วิจัย รองศาสตราจารย์ ดร.ทิศนา แขมมณี
: ตำแหน่ง นักวิชาการศึกษา
: นโยบายการศึกษา
: ปี 2547
: 1010

logo onec

บทคัดย่อ (Abstract)

ชุดโครงการวิจัยและพัฒนาเพื่อปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งโรงเรียน (ชุดโครงการ วพร.) หรือโครงการวิจัยแม่บท ดำเนินการโดยคณะนักวิจัยจากคณะครุศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนวิจัย จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ให้ดำเนินงานเป็นระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่พฤศจิกายน 2544 ถึง พฤศจิกายน 2547 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนโรงเรียน/สถานศึกษาในการปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งโรงเรียน โดยใช้กระบวนการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งเพื่อการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับรูปแบบการปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งโรงเรียน และรูปแบบการขยายผลการปฏิรูปการเรียนรู้ของโรงเรียน/สถานศึกษาในชุดโครงการ

ชุดโครงการ วพร. หรือโครงการวิจัยแม่บท ประกอบด้วยโครงการวิจัยย่อยจำนวน 49 โครงการ ใน 33 จังหวัด โดยโรงเรียน/สถานศึกษาที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 135 แห่งดำเนินการปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งโรงเรียน เพื่อพัฒนาคุณภาพของนักเรียนให้มีผลการเรียนรู้ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2544 และตามเป้าหมายที่โรงเรียนกำหนด และเพื่อวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ที่ตอบสนองต่อเป้าหมายอันเป็นจุดเน้นของโรงเรียน และสังเคราะห์องค์ความรู้เกี่ยวกับการปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งโรงเรียน แนวคิดและแนวทางในการดำเนินการชุดโครงการ วพร. มีดังนี้

โครงการวิจัยแม่บท โดยคณะนักวิจัยหลักทำหน้าที่ออกแบบและวางแผนการดำเนินงาน โดยมีคณะนักวิจัยร่วมร่วมสนับสนุนส่งเสริมการดำเนินงานของโรงเรียน/สถานศึกษาตามกรอบแนวคิดพื้นฐานและยุทธศาสตร์ 5 ด้าน คือ 1. การจัดการศึกษาที่ผู้เรียนสำคัญที่สุด 2. การกำหนดจุดเน้นด้านเป้าหมายและวิธีการพัฒนาการเรียนรู้ 3. การพัฒนาทั้งโรงเรียนแบบรวมพลัง 4. การปฏิรูปการเรียนรู้เพื่อปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และ 5. การวิจัยปฏิบัติการ/การวิจัยและพัฒนาคุณภาพงาน นอกจากนี้ คณะนักวิจัยยังดำเนินการวิจัยและพัฒนาเพื่อตอบปัญหาเกี่ยวกับรูปแบบการปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งโรงเรียน และรูปแบบการขยายผลการปฏิรูปการเรียนรู้ของโรงเรียน

ส่วนโครงการวิจัยย่อย โรงเรียนเป็นฝ่ายดำเนินการในระยะเวลา 2 ปี ระหว่างพฤษภาคม 2545 ถึง เมษายน 2547 โดยมีนักวิชาการจากสถาบันครุศึกษา ศึกษานิเทศก์ และบุคลากรจากหน่วยงานอื่นในท้องถิ่นที่สนใจเรียนรู้เข้ามาร่วมดำเนินงานและทำการวิจัยร่วมกับโรงเรียน ทำให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะโรงเรียนได้รับความช่วยเหลือสนับสนุนทางวิชาการโดยตรง เมื่อได้แผนแม่บทแลัวโรงเรียนนำแนวคิดพื้นฐานไปปฏิบัติให้เหมาะสมกับบริบทของโรงเรียน โดยใช้การวิจัยและพัฒนาเป็นเครื่องมือ ขณะที่ครูทดลองจัดการเรียนการสอน โดยใช้วิธีการที่ได้ร่วมกันคิดและกำหนดให้ทั้งโรงเรียนดำเนินการ เพื่อพัฒนานักเรียนให้มี คุณลักษณะและความสามารถตามจุดเน้นหรือเป้าหมายของโรงเรียน ผู้บริหารและทีมบริหารวิชาการของโรงเรียนทำหน้าที่จัดปัจจัยเกื้อหนุน ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของครูในการพัฒนาการนิเทศภายในและการทำวิจัย เพี่อพัฒนาคุณภาพงานและสร้างองค์ความรู้ รวมทั้งการประเมินผลการดำเนินงาน ด้านนักวิชาการจากภายนอกโรงเรียนช่วยเสริมสมรรถภาพด้านวิชาการให้แก่ครูและผู้บริหาร ส่วนผู้ปกครอง ชุมชนและกรรมการสถานศึกษาก็ให้การสนับสนุนและร่วมมือพัฒนานักเรียนอีกทางหนึ่ง

ผลการวิจัย จากการดำเนินงานการปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งโรงเรียน ด้วยกระบวนการวิจัยและพัฒนาในระยะเวลา 2 ปีการศึกษา คณะนักวิจัยของโครงการวิจัยแม่บทและโครงการวิจัยย่อยได้เรียนรู้ ปรับปรุง และพัฒนากระบวนการปฏิรูปการเรียนรู้ของโรงเรียน/สถานศึกษาทั้ง 135 แห่ง อย่างเป็นระบบ ส่งผลให้ได้รูปแบบการปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งโรงเรียนด้วยการวิจัยและพัฒนาที่มีคุณภาพประสิทธิภาพและประสิทธิผล ได้รูปแบบการขยายผลการปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งโรงเรียน และนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับบริบทของโรงเรียน 135 เรื่อง นอกจากนั้นบุคลากรที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทั้งครู ผู้บริหาร และนักวิจัย/นักวิชาการจากภายนอกที่ร่วมกัน ดำเนินงานวิจัยและพัฒนาได้ปฏิรูปการเรียนรู้ของตน จนส่งผลให้โรงเรียนเป็นสถานที่ที่นักเรียนได้เรียนรู้อย่างมีความสุข พัฒนาตนเองให้เป็นคนดีและมีความสามารถตามวัตถุประสงค์ของโครงการ

ผลการปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งโรงเรียน พบว่า เมื่อสิ้นสุดโครงการมีโรงเรียนที่มีระดับการพัฒนาดี/ดีมาก ร้อยละ 55.6 ระดับการพัฒนาปานกลางร้อยละ 42.7 และระดับการพัฒนาน้อยร้อยละ 2.2 และเมื่อศึกษาถึงการเปลี่ยนแปลงระดับการพัฒนาการปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งโรงเรียน พบว่า มีโรงเรียนร้อยละ 71.2 ที่มีระดับการพัฒนาที่ยั่งยืนและก้าวหน้าและร้อยละ 28.8 ที่ยังไม่มีความยั่งยืนในการพัฒนา เมื่อใช้คุณลักษณะที่พึงประสงค์ของนักเรียน 5 ด้าน ได้แก่ ความรู้วิชาการ ทักษะการคิด ทักษะการแสวงหาความรู้และทักษะการทำงาน ลักษณะความเป็นพลเมืองดี และความสามารถทางการคิดเชิงสังคมในการแสดงระดับการปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งโรงเรียน พบว่า เมื่อพิจารณาจากนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนส่วนใหญ่มีระดับการปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งโรงเรียนอยู่ในระดับดีมาก 2 ด้าน ได้แก่ ความรู้วิชาการและทักษะการคิด และเมื่อพิจารณาจากนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนส่วนใหญ่มีระดับการปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งโรงเรียนอยู่ในระดับดีทุกด้าน

โดยสรุปผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่า การปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งโรงเรียนด้วยการวิจัยและพัฒนามีความเป็นไปได้สูงเมื่อมีการรวมพลังกันจากทุกฝายที่เกี่ยวข้อง ทั้งภายในและภายนอกโรงเรียน

`

การวิจัยและพัฒนารูปแบบการปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งโรงเรียน is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.