การพัฒนาเชิงระบบเพื่อปฏิรูปการเรียนรู้และคุณภาพโรงเรียน
Learning Research and Development Project for Education Quality

: ชื่อผู้วิจัย นายแพทย์ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์
: ตำแหน่ง นักวิชาการศึกษา
: อื่นๆ
: ปี 2548
: 389

logo onec

บทคัดย่อ (Abstract)

การวิจัยและพัฒนาเชิงระบบเพื่อปฏิรูปการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษา ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) สร้างเครือข่ายการเรียนรู้ การพัฒนาคุณภาพ (การประกันคุณภาพภายใน) ระหว่างสถานศึกษาต่าง ๆ ที่ครอบคลุมทุกเขตพื้นที่การศึกษา 2) สร้างเครือข่ายการเรียนรู้ในการประเมินเพื่อรับรองระหว่าง 3 ฝ่าย คือ สถานศึกษา หน่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการ ที่สนับสนุนการประกันคุณภาพการศึกษาและองค์กรประเมินภายนอก 3) สร้างองค์ความรู้และเทคโนโลยี ทั้งในรูปแบบชุดความรู้และบุคลากรเพื่อการพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา การปรึกษาด้านการประกันคุณภาพ และการประเมินเพื่อการรับรอง 4) ขยายเครือข่ายเพื่อสร้างการเรียนรู้องค์ความรู้ และเทคโนโลยีให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่

สรุปผลการวิจัยและพัฒนาระยะที่ 1

1. ได้องค์ความรู้ในการพัฒนาระบบคุณภาพในสถานศึกษา ในการพัฒนาระบบคุณภาพตามแนวทางงานวิจัยนี้ อาศัยแนวคิด 3 ประการ คือ แนวคิดเชิงระบบ (System Thinking) แนวคิดเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Thinking) และการเรียนรู้ โดยการทำงานเป็นทีม (Team Learning)

2. ผลการพัฒนาระบบประกันคุณภาพในโรงเรียน ด้านกระบวนทัศน์และการจัดตั้งองค์กรคุณภาพ โรงเรียนส่วนใหญ่ สามารถดำเนินการได้ในระดับดีมาก โดยมีการทำความเข้าใจกับทีมบริหารทุกระดับในการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์มาเป็นการพัฒนาระบบต่างๆ ประสานการประเมิน อีกทั้งทีมหรือบุคคลที่รับผิดชอบการประกันคุณภาพในสถานศึกษาเปลี่ยนความคิดและวิธีการทำงานใหม่ การจัดทำแผนพัฒนาของโรงเรียนสามารถดำเนินการได้ในระดับดีมาก โดยโรงเรียนส่วนใหญ่มีการวิเคราะห์สภาพการณ์เฉพาะ ที่ชี้ให้เห็นสภาพชุมชนและครอบครัวของนักเรียน ความคาดหวังและความต้องการของชุมชนที่มีต่อโรงเรียนและยังมีการปรับปรุงวิสัยทัศน์ให้สอดคล้องกับสภาพการณ์เฉพาะที่ได้วิเคราะห์ไว้ และสาระของวิสัยทัศน์มีพลังต่อการดำเนินองค์กรไปสู่ความสำเร็จในระยะเวลาที่กำหนดไว้ชัดเจน ด้านความสัมพันธ์กับชุมชนอยู่ในระดับดี โดยโรงเรียนมีการวางระบบความสัมพันธ์กับชุมชน การกำหนดช่องทางและวางบทบาทชุมชน ผู้ปกครอง และศิษย์เก่า เพื่อเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพในโรงเรียน การวางระบบคุณภาพ โรงเรียนส่วนใหญ่สามารถดำเนินการได้ระดับดีมาก

3. ผลการพัฒนาเครือข่ายการเรียนรู้สามารถพัฒนาเครือข่ายโรงเรียนในโครงการเป็นเครือข่ายจาก 213 โรงเรียนทั่วประเทศ และแต่ละเครือข่ายมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเครือข่าย จำนวน 7 ครั้ง ผลจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พบว่า โรงเรียนและทีมพัฒนาคุณภาพแต่ละโรงเรียนจะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น 3 ระดับ คือ ระดับบุคคล ทีมงาน และระดับองค์กร

4. จากการประเมินรูปแบบการประเมินภายนอกโดยผู้ประเมิน 3 ฝ่าย คือ การประเมินคุณภาพภายนอก ทัศนะต่อการประเมินคุณภาพภายนอกของผู้ประเมินและผู้รับการประเมินพบว่า รูปแบบการประเมินภายนอกที่ดำเนินการโดยหน่วยประเมินของ สมศ. กับรูปแบบที่ทางโครงการเสนอนั้น มีสิ่งที่แตกต่างกัน คือ รูปแบบในโครงการวิจัยและพัฒนาเน้นการประเมินเชิงระบบของโรงเรียน และพิจารณาผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากระบบ ส่วนการประเมินของหน่วยประเมินของ สมศ. จะเน้นการประเมินผลลัพธ์รายมาตรฐาน และตัวบ่งชี้เพื่อตัดสินคุณภาพ

สรุปผลการวิจัยและพัฒนาระยะที่ 2-3

ส่วนที่ 1 ผลการพัฒนาเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้โรงเรียนต้นแบบ ผลการพัฒนาเพื่อสร้างความเข้มแข็งของโรงเรียนในโครงการที่เข้าร่วมโครงการวิจัย ตั้งแต่ระยะที่ 1 จำนวน 213 โรงเรียน นำเสนอเป็น 3 ส่วน คือ 1) ผลการดำเนินการพัฒนาระบบคุณภาพในโรงเรียน 2) ผลของกระบวนการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้โรงเรียน และ 3) วิธีปฏิบัติที่เป็นนวัตกรรม (Best Practices) ปัจจัยความสำเร็จและการเรียนรู้จากการพัฒนาระบบคุณภาพของโรงเรียน ผลการดำเนินการพัฒนาระบบคุณภาพในโรงเรียน โรงเรียนที่ดำเนินงานตามระบบ ToPSTAR มีระดับปฏิบัติตามลักษณะความเป็นจริงในโรงเรียนโดยภาพรวม อยู่ในระดับมาก ผู้บริหารมีประสบการณ์ในการบริหารโรงเรียนต่างกัน มีผลการดำเนินงานตามระบบ ToPSTAR ไม่แตกต่างกัน โรงเรียนที่มีอัตรากำลังครูตํ่ากว่าเกณฑ์ มีแนวโน้มของค่าเฉลี่ยของสภาพจริงในการทำงานสูงกว่าโรงเรียนที่มีอัตรากำลังเกินเกณฑ์และพอดีเกณฑ์ ด้านขนาดของโรงเรียนพบว่าโรงเรียนที่มีครู 51-100 คน มีผลการดำเนินงานด้าน Think Over สูงกว่าโรงเรียนที่มีครูมากกว่า 100 คน และโรงเรียนที่มีครูน้อยกว่า 20 คน มีผลการดำเนินงานด้าน Team สูงกว่าโรงเรียนที่มีครูมากกว่า 100 คน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ผลของกระบวนการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้โรงเรียน ในการดำเนินการ 2 รูปแบบ คือ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้เชิงประสบการณ์ในระยะแรก และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบเทียบระดับในระยะที่ 2 พบว่า ผลการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เชิงประสบการณ์มีข้อดี คือโรงเรียนได้ปรับเปลี่ยนการบริหารให้เป็นระบบ และมีการดำเนินงานเป็นแบบแผนเดียวกัน ทีมพัฒนาคุณภาพได้เรียนรู้ ศึกษา แลกเปลี่ยนประสบการณ์จริงในกระบวนการการวางระบบและวิธีการมาตรฐาน และมีผลทำให้เครือข่ายโรงเรียนมีมิตรภาพต่อกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แต่ก็มีข้อด้อยเรื่องที่โรงเรียนในเครือข่ายที่ขนาดต่างกันไม่สามารถนำเอกสารไปใช้ได้ ต้องปรับให้เข้ากับบริบทของโรงเรียน ส่วนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบเทียบระดับ ช่วยทำให้โรงเรียนมีต้นแบบเทียบเคียงที่ชัดเจน และสามารถนำไปใช้เป็นแนวปฏิบัติได้

ส่วนที่ 2 รูปแบบการขยายเครือข่ายการเรียนรู้ตามโครงการ ToPSTAR มีทั้งหมด 4 รูปแบบ คือ 1) การขยายเครือข่ายโดยหน่วยงานขอให้นักวิจัยไปดำเนินการร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา การขยายเครือข่ายผ่านเขตพื้นที่การศึกษา และร่วมกับหน่วยงานอื่น 2) การขยายเครือข่ายผ่านเขตพื้นที่การศึกษา 3) การขยายเครือข่ายผ่านโรงเรียนในโครงการที่เข้มแข็ง และ 4) การขยายเครือข่ายผ่านนักวิจัยในพื้นที่ มีผลการดำเนินการขยายเครือข่ายโรงเรียนในด้านความสำเร็จและผลกระทบจากการขยายเครือข่าย คือ ผู้บริหารโรงเรียน และทีมพัฒนาคุณภาพมีความรู้ ความเข้าใจ ในการพัฒนาคุณภาพเชิงระบบ ศึกษานิเทศก์ นักวิจัยเครือข่ายมีความรู้และความเข้าใจในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาเชิงระบบและสามารถเข้านิเทศ ติดตาม ส่งเสริม สนับสนุน บรรลุวัตถุประสงค์ตามเป้าหมายที่กำหนด โรงเรียนได้ประเมินตรวจสอบผลการพัฒนาตนเอง รู้สภาพที่เป็นโอกาสในการพัฒนาและเป้าหมายในการพัฒนาได้ถูกต้องกับบริบทตนเอง

`

การพัฒนาเชิงระบบเพื่อปฏิรูปการเรียนรู้และคุณภาพโรงเรียนLearning Research and Development Project for Education Quality is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.