ระดับความสามารถในการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาของไทย
The cognitive level of Thai secondary students

: ชื่อผู้วิจัย ดร.ชาริสา โพธิ์นิ่มแดง
: ตำแหน่ง นักวิชาการศึกษา
: ประถม - มัธยมศึกษา
: ปี 2548
: 332

logo onec

บทคัดย่อ (Abstract)

จากความเชื่อที่ว่านักศึกษาเอเชียมีวิธีการเรียนรู้โดยการท่องจำแค่เพียงอย่างเดียว โดยขาดทักษะการคิดวิเคราะห์ แต่กลับมีผลการเรียนที่ดีกว่านักศึกษาทางตะวันตกนั้น ทำให้ในปี ค.ศ. 1999 Baumgart & Halse ได้สนใจทำการตรวจสอบเครื่องมือในการประเมินผลการเรียน ซึ่งจะเป็นตัวบ่งชี้ถึงระบบและวิธีการเรียนการสอน โดยได้วิเคราะห์ข้อสอบวิชาสังคมศึกษาของนักเรียนเกรด 12 ของประเทศออสเตรเลียและญี่ปุ่นแลัวนำมาเปรียบเทียบกับข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยของไทย จากการตรวจสอบพบว่า ข้อสอบของไทยเป็นชุดเดียวที่สอคคล้องกับทฤษฎีการคิดเชิงวิเคราะห์ในทักษะพุทธิปัญญาของ Benjamin Bloom ซึ่งแบ่งระดับการเรียนรู้ ออกเป็น 6 ระดับ ได้แก่ ความรู้ ความเข้าใจ การนำไปประยุกต์ใช้ การวิเคราะห์ การสังเคราะห์ และการประเมิน ทักษะ 3 ระดับสุดท้าย จัดว่าเป็นทักษะการคิดขั้นสูง จากการศึกษาพบว่า เพื่อที่จะทำข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยให้สัมฤทธิ์ผล นักเรียนไทยจะตัองมีทักษะในการวิเคราะห์ การตีความหมาย การแปลความ และการนำไปประยุกต์ใช้ เพื่อศึกษาต่อจากงานวิจัยของ Baumgart & Halse งานวิจัยนี้ถูกจัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะตรวจสอบดูความสามารถในการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาของไทย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ ข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยวิชาสังคมศึกษา ฉบับเดือนตุลาคม ปี พ.ศ. 2547 ข้อสอบแต่ละข้อถูกนำมาวิเคราะห์ว่าเป็นการวัดทักษะใด จากการวิเคราะห์ข้อสอบพบว่า ในจำนวนข้อสอบทั้งหมด 80 ข้อ เป็นการวัดความรู้ 25 ข้อ วัดความเข้าใจ 27 ข้อ วัดการนำไปประยุกค์ใช้ 4 ข้อ วัดการวิเคราะห์และการสังเคราะห์ 19 ข้อ และอีก 5 ข้อเป็นการวัดการประเมิน กลุ่มประชากร ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ทุกคนจำนวน 1,703 คนที่ศึกษาอยู่ในโรงเรียนทั้ง 4 ของจังหวัดขอนแก่น ผลการวิจัยพบว่า 50% ขึ้นไปของนักเรียนทั้งหมดเลือกคำตอบที่ถูกตัองไดั 12 ข้อ จากข้อสอบ 24 ข้อ ที่วัดทักษะการคิดขั้นสูง ซึ่งได้แก่ การวิเคราะห์ การสังเคราะห์ และการประเมิน ในขณะเดียวกันมีนักเรียน 50% ขึ้นไปที่สามารถเลือกคำตอบที่ถูกต้องได้ 28 ข้อจากข้อสอบ 56 ข้อ ที่วัดทักษะการคิดเบื้องต้น คือ ความรู้ ความเข้าใจ และการนำไปประถูกต์ใช้ ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า นักเรียนไทยไม่ได้ใช้วิธีการเรียนรู้ด้วยการท่องจำแต่เพียงอย่างเดียว แต่มีทักษะในการคิดวิเคราะห์ในระดับหนึ่ง

`

ระดับความสามารถในการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาของไทยThe cognitive level of Thai secondary students is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.