ติดตามสภาวการณ์เด็กและเยาวชนรายจังหวัดภาคเหนือตอนบน
Child Watch Project towards upper-north Thai provinces

: ชื่อผู้วิจัย จำลอง คำบุญชู
: ตำแหน่ง นักวิชาการศึกษา
: อื่นๆ
: ปี 2550
: 301

logo onec

บทคัดย่อ (Abstract)

โครงการติดตามสภาวการณ์เด็กและเยาวชนรายจังหวัดภาคเหนือตอนบน มีวัตถุประสงค์ 5 ประการ คือ ประการที่หนึ่งเพื่อทำการสำรวจสภาวการณ์เด็กและเยาวชนในระดับจังหวัด โดยอาศัยตัวบ่งชี้คัดสรร (Selected indicators) การสำรวจพฤติกรรมเด็ก ตลอดจนกรณีศึกษาปัญหาเด็กและเยาวชนเฉพาะเรื่องในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ พะเยา แพร่ น่าน แม่ฮ่องสอน ลำปาง และลำพูน ประการที่สองเพื่อทำการศึกษาวิเคราะห์รูปแบบหรือแบบแผนของปัญหาและความเสี่ยงของเด็กและเยาวชน รวมถึงปัจจัยเสี่ยงในกลุ่มเยาวชนในพื้นที่ หรือในประเด็นปัญหาอันเป็นเป้าหมายการศึกษา ประการที่สามเพื่อค้นหารูปแบบแนวทางตลอดจนเงื่อนไขปัจจัยในการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมถึงแนวทางในการช่วยให้เด็กและเยาวชนสามารถลด เลี่ยง ป้องกันตนเองจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ประการที่สี่เพื่อผลักดันให้เกิดความเคลื่อนไหวในระดับจังหวัด หรือระดับอนุภูมิภาค จากข้อมูลงานวิจัยและรวมถึงการค้นหาแนวทางการส่งเสริมการมีส่วนร่วมและรูปแบบการทำงานร่วมกันที่ยั่งยืนระหว่างองค์กร หน่วยงานและบุคคลในพื้นที่รวมถึงสถาบันการศึกษา หน่วยราชการ องค์กรพัฒนาเอกชน และองค์กรประชาชนในการพัฒนาเด็กและเยาวชนในพื้นที่นั้นๆ ต่อไป และประการที่ห้าเพื่อให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายอันจะนำไปสู่การดำเนินยุทธศาสตร์ระดับชาติและระดับพื้นที่ด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป

ผลการวิจัยพบว่าสภาวการณ์เด็กและเยาวชนภาคเหนือตอนบน มีแนวโน้มทิศทางความเปลี่ยนแปลงจากผลการสำรวจสภาวการณ์ของปี 2548-2549 ที่ผ่านมา ซึ่งมีทั้งแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงที่เพิ่มขึ้นและลดลงทั้งในด้านดีและด้านเสี่ยง สภาวการณ์ของเด็กและเยาวชนภาคเหนือตอนบนที่เป็นปัญหาสำคัญยังคงเป็นพฤติกรรมการบริโภค ปัญหาอบายมุข ปัญหายาเสพติด ปัญหาสื่อยั่วยุมอมเมาเยาวชน พฤติกรรมทางเพศเสรี และความรุนแรงในเด็กและเยาวชน ทั้งนี้พบว่าปัจจัยเสี่ยงต่อการเข้าสู่ปัญหาของเด็กและเยาวชนภาคเหนือตอนบนที่สำคัญคือ การอยู่ห่างบ้านห่างครอบครัว การขาดพ่อแม่ผู้ใหญ่ดูแลใกล้ชิด การคบเพื่อนมีเพื่อนพาไปในทางเสี่ยงการเสพสี่อที่ไม่ดีหรือสื่อลามก การใช้ชีวิตอยู่ในเมืองที่มีพื้นที่เสี่ยง และพบว่าปัจจัยสร้างที่ช่วยเสริมสร้างการพัฒนาเด็ก ได้แก่ การได้รับสนับสนุนและการให้โอกาสของพ่อแม่ ครู และผู้ใหญ่ การมีกลุ่มเพื่อนที่ดีมีกิจกรรมทำร่วมกัน การมีพื้นที่สร้างสรรค์ พื้นที่ดีมีกิจกรรมดีให้ได้ทำอยู่เสมอ

โครงการติดตามสภาวการณ์เด็กและเยาวชนภาคเหนือตอนบนจึงกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาเด็กและเยาวชนระดับจังหวัดภาคเหนือตอนบน โดยประยุกต์แนวทางการพัฒนายุทธศาสตร์เมืองน่าอยู่สำหรับเด็กในระดับจังหวัดให้เกิดยุทธศาสตร์เชิงรุก คือการเป็นจังหวัดปลอดภัยสำหรับเด็ก การเป็นจังหวัดสุขภาพสำหรับเด็กและเยาวชน การเป็นจังหวัดที่ปลอดอบายมุขและยุทธศาสตร์การพัฒนาเพื่อความยั่งยืน ได้แก่ การเป็นจังหวัดครอบครัวอบอุ่นและเข้มแข็ง การเป็นจังหวัดมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชน การเป็นจังหวัดส่งเสริมการเรียนรู้และการเป็นจังหวัดพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็ก

`

ติดตามสภาวการณ์เด็กและเยาวชนรายจังหวัดภาคเหนือตอนบนChild Watch Project towards upper-north Thai provinces is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.