ติดตามสภาวการณ์เด็กและเยาวชน (Child Watch) ภาคกลาง

: ชื่อผู้วิจัย ผศ.จินตนา เวชมี
: ตำแหน่ง นักวิชาการศึกษา
: อื่นๆ
: ปี 2550
: 353

logo onec

บทคัดย่อ (Abstract)

จากการวิเคราะห์รายงานการติดตามสภาวการณ์เด็กและเยาวชนภาคกลางทั้ง 12 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดชัยนาท จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดราชบุรี จังหวัดลพบุรี จังหวัดสมุทรสงคราม จังหวัดสระบุรี จังหวัดสิงห์บุรี จังหวัดสุพรรณบุรี และจังหวัดอ่างทอง พบว่าแนวโน้มทิศทางและสภาวการณ์เด็กและเยาวชนในระดับจังหวัด มีแนวโน้มแย่ลงทุกด้านโดยมีรายละเอียดดังนี้

ด้านสุขภาพอนามัยซึ่งมีตัวบ่งชี้ 5 รายการ มีสภาวะด้านการอนามัยแม่และเด็กและการผดุงครรภ์ซึ่งประกอบด้วย อัตราการตายปริกำเนิด และร้อยละของทารกนํ้าหนักน้อยกว่า 2,500 กรัม ดีขึ้นเพียงสภาวะเดียว แต่สภาวะการเฝ้าระวังการเจริญเติบโตของเด็กก่อนวัยเรียนและเด็กวัยเรียน ความเสี่ยงด้านสุขภาพเด็กและสุขภาพจิตโดยเฉพาะเรื่องความอ้วนและความเครียดมีแนวโน้มแย่ลง ด้านการศึกษามีตัวบ่งชี้ 6 รายการ พบว่า โอกาสทางการศึกษาลดลง ความพร้อมของจำนวนครูที่เหมาะสมกับการจัดการศึกษาทั้งระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาไม่เพียงพอ การมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนอยู่ในระดับตํ่า สภาวะเสี่ยงของเด็กในระบบซึ่งพิจารณาจากการโดดเรียนเป็นประจำมีมากขึ้นแต่ร้อยละของนักเรียนที่ชอบไปโรงเรียนและรู้สึกปลอดภัยเวลาไปโรงเรียนมีน้อย

ด้านสังคม มีตัวบ่งชี้ 7 รายการ พบว่าทุกตัวบ่งชี้อยู่ในสภาวการณ์ที่แย่ลง ได้แก่ ด้านความสัมพันธ์ในครอบครัว ซึ่งพบว่าเด็กระดับประถมศึกษามีอัตราการไม่ได้อยู่กับพ่อแม่เพิ่มมากขึ้น อัตราการหย่าร้างเพิ่มมากขึ้น และอัตราเยาวชนที่มีอายุตํ่ากว่า 19 ปีต่อประชากรแสนคนมาคลอดเพิ่มมากขึ้น สภาวการณ์ด้านการจัดระเบียบพื้นที่พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงมากกว่าพื้นที่ดี การมีโอกาสเข้าไปเล่นเกมในร้านอินเตอร์เน็ตง่ายมากขึ้น อัตราเด็กที่กระทำความผิดที่ส่งต่อเข้าสถานพินิจเพิ่มมากขึ้น และอัตราการขอเข้ารับการบำบัดยาเสพติดเพิ่มมากขึ้น ผลจากการเปิดเวทีระดมสมองผู้เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กและเยาวชนทั้งระดับจังหวัดและระดับภาค สรุปได้ดังนี้

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเข้าสู่ปัญหาของเด็กและเยาวชน

1. ความล่มสลายของสถาบันครอบครัว ภายใต้กระแสบริโภคนิยมทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการทำงานเพื่อหารายได้มีเวลาให้กับบุตรหลานน้อย การใช้เวลาอยู่ร่วมกันไม่มีประสิทธิภาพ กิจกรรมที่จะสร้างความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวมีน้อย เด็กและเยาวชนมีโอกาสได้พูดคุยและทำกิจกรรมภายในครอบครัวน้อย เวลาส่วนใหญ่ของเด็กและเยาวชนในแต่ละวันจะใช้ในการดูทีวี วิซีดี โทรศัพท์คุยกับเพื่อนมากกว่าคุยกับคนในบ้าน สภาพความล่มสลายของสถาบันครอบครัวจะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีแนวโน้มเด็กและเยาวชนที่อายุตํ่ากว่า 19 ปีมาทำคลอดมากขึ้น การหย่าร้างเพิ่มขึ้น และมีเด็กในระดับประถมศึกษาไม่ได้อยู่กับพ่อแม่มากขึ้น

2. การขาดความรู้และทักษะที่จะเป็นภูมิคุ้มกันให้รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก ทั้งในด้านเทคโนโลยีและด้านสังคม เด็กและเยาวชนส่วนใหญ่เมื่อมีปัญหาจะปรึกษาเพื่อนมากกว่าปรึกษาครูหรือพ่อแม่ ดังนั้นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ คือ ความไม่รู้หรือความรู้ที่ไม่ถูกต้องที่ได้รับจากการปรึกษาเพื่อนหรือแหล่งที่ปรึกษาอื่นซึ่งมีหลากหลายรูปแบบ เช่น การพูดคุยโทรศัพท์ การพูดคุยบนสื่ออิเล็กทรอนิกส์ จะนำไปสู่ปัญหาที่ซับซ้อนเพิ่มมากขึ้น

3. สภาวะแวดล้อมในสังคมที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของเด็กและเยาวชนซึ่งเปลี่ยนแปลงในทางที่เลวลง ได้แก่ การมีพื้นที่เสี่ยงในชุมชนที่ใกล้ตัวเด็กและเยาวชน เช่น ร้านคาราโอเกะ โต๊ะสนุกเกอร์ ร้านอินเตอร์เน็ต ห้างสรรพสินค้า (ที่มีแหล่งอบายมุข) หอพักที่ขาดการบริหารจัดการที่ดี สื่อที่มอมเมา ค่านิยมที่ผิด สื่อลามก เช่น การ์ตูนโป๊ วิชีดีโป๊ และคสิปโป๊ หรือแม้แต่โรงเรียนซึ่งเป็นสถานที่ที่เด็กและเยาวชนน่าจะมีความสุขและชอบที่จะไปหรือชอบที่จะอยู่ แต่ก็พบว่าเด็กส่วนมากไม่ชอบไปโรงเรียน โดยเฉพาะเด็กระดับมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษา และมีเด็กส่วนน้อยที่รู้สึกปลอดภัยเวลาไปโรงเรียน

ปัจจัยสร้างที่ช่วยส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชน

1. ความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัว ครอบครัวที่อบอุ่น บุคคลในครอบครัวมีสัมพันธภาพที่ดีต่อกันจะสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กและเยาวชนรู้สึกมีความสุข คิดไตร่ตรองก่อนตัดสินใจ ดังนั้นภาครัฐควรเร่งสร้างความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัวทุกรูปแบบ ได้แก่ การให้ความรู้ เทคนิค และทักษะในการสร้างสัมพันธภาพในครอบครัว การส่งเสริมกิจกรรมสร้างสัมพันธภาพของครอบครัว การยกย่องครอบครัวที่เข้มแข็ง เป็นต้น

2. การรู้เท่าทันทั้งมุมบวกและมุมลบของการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและสังคม สื่อมวลชน ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เกี่ยวข้องควรให้ความรู้ในการใช้เทคโนโลยีและโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีในทางที่ผิดหรือภัยที่จะเกิดขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงสังคม กลุ่มเป้าหมายในการให้ความรู้ คือ เด็กและเยาวชน รวมทั้งผู้ปกครอง

3. สภาวะแวดล้อมที่ดี การมีสภาวะแวดล้อมทั้งด้านสถานที่ สื่อ และกิจกรรมที่ดีจะช่วยหล่อหลอมให้เด็กและเยาวชนได้ซึมซับสิ่งที่ดี รวมทั้งได้รูปแบบการดำเนินชีวิตที่ดีมีประโยชน์ต่อตนเองและสังคม

4. ความเข้มแข็งของชุมชน และการมีส่วนร่วมในการป้องกันแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชน ชุมชนที่ตระหนักและมีส่วนร่วมในการมองเห็นสภาพปัญหา ร่วมกันหาแนวทางแก้ปัญหา ร่วมปฏิบัติทำกิจกรรมที่จะแก้ปัญหา ร่วมรับผิดชอบในผลที่เกิดขึ้นจากการทำกิจกรรม ตลอดจนพัฒนารูปแบบการพัฒนาเด็กและเยาวชนอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง จะเป็นปัจจัยสร้างแนวทางการพัฒนาเด็กและเยาวชน

รูปแบบการทำงานร่วมกันของหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัดที่เกี่ยวข้องกับงานพัฒนาเด็กและเยาวชน

งานพัฒนาเด็กและเยาวชนในแต่ละจังหวัดควรมีลักษณะที่ทำงานร่วมกันโดยมีเจ้าภาพหลัก (ผู้รับผิดชอบหลัก) ที่ชัดเจน เช่น ด้านการศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาควรจะรับผิดชอบเป็นเจ้าภาพหลัก ด้านสุขภาพอนามัย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเป็นเจ้าภาพหลัก ด้านสังคม พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นเจ้าภาพหลัก โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงาน สนับสนุนด้านงบประมาณและทรัพยากร รวมถึงด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องโดยมีการจัดระบบการทำงาน โดยใช้ข้อมูลจากการวิจัยของ Child Watch หรือ แหล่งข้อมูลอื่นที่น่าเชื่อถือเป็นฐานการพัฒนา กำหนดเป้าหมายหรือเกณฑ์ในการดำเนินงานให้ชัดเจน ร่วมกันคิดกลยุทธ์ที่เหมาะสมกับสภาวการณ์เด็กและเยาวชนให้มากที่สุดแล้วดำเนินการตามกลยุทธ์ที่วางไว้ มีระบบการติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่องและมีการยกย่องให้รางวัลการทำงานที่เป็นไปตามเป้าหมาย ทั้งนี้ต้องใช้กระบวนการมีส่วนร่วมในการดำเนินการ รวมถึงมีคณะกรรมการที่ปรึกษาระดับจังหวัด อำเภอ และตำบล

สภาเด็กและเยาวชนระดับจังหวัดจะมีพลังสร้างสรรคยั่งยืนควรมีมาตรการ ดังนี้

1. สรรหา/คัดเลือกตัวแทนสภาเด็กและเยาวชนโดยให้โอกาสเด็กทุกกลุ่มอย่างทั่วถึง

2. พัฒนาศักยภาพการเป็นผู้นำ/ผู้ตามที่ดี/รวมทั้งคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของการเป็นกรรมการสภาที่ดี

3. เปิดโอกาส/จัดเวที/จัดกิจกรรมแสดงความเห็นหรือการแสดงออกให้ขยายครอบคลุมพื้นที่ในระดับตำบล ทั้งนี้การจัดกิจกรรม/การแสดงความคิดเห็นให้อยู่บนฐานข้อมูลจากการวิจัยหรือฐานความรู้

4. จัดกิจกรรมให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับสภาเด็กและเยาวชนอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง

5. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสนับสนุนงบประมาณ วัสดุ ครุกัณฑ์ และสิ่งอำนวยความสะดวกในการทำงาน

6. มีการติดตามประเมินผลการทำงานของสภาเด็กและเยาวชนอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง

นโยบายการทำงานด้านเด็กและเยาวชนระดับจังหวัด

1. ส่งเสริมการบูรณาการทำงานร่วมกันของส่วนราชการ องค์กรเอกชนและพหุภาคีที่เกี่ยวข้องกับการทำงานด้านเด็กและเยาวชน

2. สนับสนุนให้มีการระดมทรัพยากรจากทุกภาคส่วนในสังคม เพื่อจัดตั้งกองทุนสนับสนุนโครงการหรือกิจกรรมสร้างสรรค์ด้านเด็กและเยาวชนในระดับจังหวัด

3. ส่งเสริมการสร้างระบบการบริหารจัดการเครือข่ายเฝ้าระวังเด็กและเยาวชนในระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และระดับตำบล

4. ส่งเสริมความเข้มแข็งให้กับสถาบันครอบครัวและชุมชน

5. จัดให้มีระบบติดตามหนุนเสริมและประเมินผลงานอย่างต่อเนื่อง

ยุทธศาสตร์การทำงานด้านเด็กและเยาวชนระดับจังหวัด

1. ใช้ข้อมูลเป็นฐานการร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมดำเนินการและร่วมติดตามประเมินผลการพัฒนาเด็กและเยาวชน

2. ใช้กระบวนการมีส่วนร่วมในการทำงานจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน

3. แก้ไขปัญหาและพัฒนาเด็กและเยาวชนตามลำดับความจำเป็นเร่งด่วนอย่างมีประสิทธิภาพ

4. ยกย่องชุมชน องค์กร บุคคลที่อุทิศการทำงานด้านเด็กและเยาวชน

นโยบายการทำงานด้านเด็กและเยาวชนระดับประเทศ

1. ส่งเสริมการบูรณาการทำงานร่วมกันของส่วนราชการ องค์กรเอกชนและพหุภาคีที่เกี่ยวข้องกับการทำงานด้านเด็กและเยาวชน

2. จัดตั้งกองทุนเด็กและเยาวชน

3. กำหนดระเบียบข้อบังคับที่มีผลบังคับใช้เกี่ยวกับการทำงานด้านเด็กและเยาวชน

4. ส่งเสริมความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัวและชุมชน

5. สร้างระบบติดตามประเมินผลการทำงานด้านเด็กและเยาวชน

ยุทธศาสตร์การทำงานด้านเด็กและเยาวชนระดับประเทศ

1. ใช้ข้อมูลเป็นฐานในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์อย่างต่อเนื่อง

2. วางระบบเพื่อส่งเสริมการทำงานด้านเด็กและเยาวชนให้ชัดเจน

3. ส่งเสริม ยกย่อง ชุมชน องค์กร หรือบุคคลที่ทำงานด้านเด็กและเยาวชน

`

ติดตามสภาวการณ์เด็กและเยาวชน (Child Watch) ภาคกลาง is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.