การจัดการเรียนการสอนทักษะการฟังและพูดภาษาอังกฤษแบบเข้มภาคฤดูร้อน: กรณีศึกษานักศึกษาคณะศิลปศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
Intensive Summer Teaching of English Listening and Speaking Skills: A Case Study of Liberal Arts Students at Prince of Songkla University
: ชื่อผู้วิจัย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อดิศา เตียว
: ตำแหน่ง นักวิชาการศึกษา
: อุดมศึกษา
: ปี 2550
: 455
บทคัดย่อ (Abstract)
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทดลองหลักสูตรและรูปแบบการจัดการเรียนการสอนทักษะการฟังและพูดภาษาอังกฤษแบบเข้มภาคฤดูร้อน ซึ่งประกอบด้วยการเรียนในชั้นเรียนรวม 60 ชั่วโมง เป็นเวลา 16 วัน และการให้นักศึกษาฝึกฝนทักษะเพิ่มเติมด้วยตนเองนอกชั้นเรียน และเพื่อศึกษาผลการจัดการเรียนการสอนดังกล่าวในด้านต่างๆ กลุ่มตัวอย่างในงานวิจัย คือ นักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ชั้นปีที่1 และ 2 ปีการศึกษา 2548 จำนวน 18 คน ที่เข้าร่วมโครงการจัดการเรียนการสอนทักษะการฟังและพูดภาษาอังกฤษแบบเข้มภาคฤดูร้อนด้วยความสมัครใจ นักศึกษากลุ่มนี้มีผลการเรียนภาษาอังกฤษโดยเฉลี่ยในระดับปานกลาง (C+) เครื่องมือในการเก็บข้อมูล ประกอบด้วยแบบทดสอบความสามารถในการฟังและพูดภาษาอังกฤษก่อนและหลังการเรียนการสอน แบบบันทึกการฝึกฝนทักษะการฟังและพูดภาษาอังกฤษเพิ่มเติมด้วยตนเองนอกชั้นเรียน แบบสอบถามเจตคติก่อนและหลังการเรียนการสอน และรายงานผลการเรียนรายวิชาภาษาอังกฤษที่เน้นทักษะการฟังและพูดของนักศึกษาในภาคการศึกษาถัดไป ผลการศึกษาสามารถสรุปได้ดังนี้
1. ความสามารถในการพูดภาษาอังกฤษโดยรวมของนักศึกษาหลังการเรียนการสอนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 อย่างไรก็ดี ความสามารถในการฟังโดยรวมของนักศึกษาหลังการเรียนการสอนเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน แต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ
2. นักศึกษาใช้เวลาในการฝึกฝนทักษะการฟังและพูดเพิ่มเติมด้วยตนเองนอกชั้นเรียนรวมเฉลี่ยคนละ 18.96 ชั่วโมง
สื่อ/กิจกรรมที่นักศึกษาใช้ในการฝึกฝนมีทั้งหมด 19 ประเภท กิจกรรมที่นักศึกษาทุกคนทำ คือ การฟังและร้องเพลง และฝึกออกเสียง
3. พัฒนาการด้านความสามารถในการฟังและพูดภาษาอังกฤษของนักศึกษาหลังการเรียนการสอน และเวลาและกิจกรรมในการฝึกฝนทักษะการฟังและพูดภาษาอังกฤษเพิ่มเติมด้วยตนเองนอกชั้นเรียนของนักศึกษา มีความสัมพันธ์กันดังนี้
3.1 การฝึกออกเสียงเพิ่มเติมด้วยตนเองนอกชั้นเรียนมีความสัมพันธ์เชิงบวกในระดับปานกลางกับพัฒนาการด้านการฟังบทสนทนาของนักศึกษาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
3.2 จำนวนชั่วโมงรวมที่นักศึกษาใช้ในการทำทุกกิจกรรมเพื่อการฝึกฝนทักษะการฟังและพูดภาษาอังกฤษเพิ่มเติมด้วยตนเองนอกชั้นเรียนมีความสัมพันธ์เชิงผกผันในระดับปานกลางกับพัฒนาการด้านการสัมภาษณ์และการพูดโดยรวมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
4. ในด้านเจตคติ สามารถสรุปข้อค้นพบที่สำคัญได้ดังนี้
4.1 หลังการเรียนการสอน นักศึกษารู้สึกเครียด/กังวล กลัวฟังไม่เข้าใจ กลัวฟังไม่ทัน กลัวพูดผิดไวยากรณ์ กลัวผู้ฟังไม่เข้าใจสิ่งที่ตนเองพูด ลดน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ส่วนความอาย/เขินเวลาพูดภาษาอังกฤษต่อหน้าผู้อื่นลดน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
4.2 หลังการเรียนการสอน นักศึกษามั่นใจในความสามารถในการพูดภาษาอังกฤษของตนเองและไม่ลดละความพยายาม/ความตั้งใจเมื่อฟังไม่ทันหรือไม่เข้าใจ เพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ตลอดจนไม่ลดละความพยายาม ถึงแม้จะพูดติดๆขัดๆ เพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
4.3 กิจกรรมที่ใช้ในการจัดการเรียนการสอนในงานวิจัยนี้ ที่นักศึกษาเห็นว่ามีประโยชน์และช่วยพัฒนาทักษะการฟังและพูดภาษาอังกฤษในระดับมากเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 มีจำนวน 4 กิจกรรมคือ การฟังเพลง เล่าเรื่อง พูดหน้าชั้นเรียน/ในที่ชุมชน และฝึกสนทนาตามบทบาทสมมติ
4.4 นักศึกษาเห็นว่าปัญหาและอุปสรรคในการเรียนและใช้ทักษะการฟังและพูดภาษาอังกฤษเกิดจากสาเหตุ 5 ประการในระดับมากทั้งก่อนและหลังการเรียนการสอน คือ การฟังไม่เข้าใจ ไม่คุ้นกับสำเนียงเจ้าของภาษาหรือชาวต่างประเทศ ไม่รู้ศัพท์ ฝึกฝนทักษะฟังและพูดภาษาอังกฤษเพิ่มเติมนอกชั้นเรียนน้อยเกินไป และไม่มีโอกาสใช้ทักษะฟังและพูดภาษาอังกฤษในสถานการณ์จริง
4.5 นักศึกษาเห็นว่าการจัดการเรียนการสอนทักษะการฟังและพูดภาษาอังกฤษแบบเข้มภาคฤดูร้อนเป็นโครงการที่มีประโยชน์ในระดับมาก ประโยชน์ที่นักศึกษาได้รับจากโครงการ 3 ลำดับแรก คือ 1) ได้เพิ่มทักษะการฟังและพูด 2) มีความกล้าแสดงออก และ 3) ได้เรียนรู้ภาษาและสำนวน นอกจากนี้นักศึกษาพึงพอใจในความพร้อมและวิธีการสอนของผู้สอน และต้องการให้มี
โครงการนี้อีกในอนาคต
5. นักศึกษาที่ผ่านการเรียนการสอนในงานวิจัยนี้ ส่วนใหญ่ (83.33%) มีผลการเรียนรายวิชาภาษาอังกฤษที่เน้นทักษะการฟังและพูดในภาคการศึกษาถัดไปในเกณฑ์ดี จำแนกเป็นนักศึกษาที่ได้ผลการเรียนในระดับ A จำนวน 50.00% ระดับ B+ จำนวน 22.22% และระดับ B จำนวน 11.11% นักศึกษาส่วนที่เหลือ (16.66%) มีผลการเรียนระดับปานกลาง จำแนกเป็นนักศึกษาที่ได้ผลการเรียนในระดับ C+ จำนวน 11.11% และระดับ C จำนวน 5.55%
การจัดการเรียนการสอนทักษะการฟังและพูดภาษาอังกฤษแบบเข้มภาคฤดูร้อน: กรณีศึกษานักศึกษาคณะศิลปศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์Intensive Summer Teaching of English Listening and Speaking Skills: A Case Study of Liberal Arts Students at Prince of Songkla University is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.