การสอนฟังและพูดภาษาอังกฤษแบบเข้มให้แก่นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 จังหวัดนครศรีธรรมราช
INTENSIVE TEACHING OF ENGLISH LISTENING AND SPEAKING TO PRATOMSUKSA 2 STUDENTS IN NAKHON SI THAMMARAT

: ชื่อผู้วิจัย ผศ.ดร.ชลลดา เลาหวิริยานนท์
: ตำแหน่ง นักวิชาการศึกษา
: ประถม - มัธยมศึกษา
: ปี 2550
: 574

logo onec

บทคัดย่อ (Abstract)

เป็นที่ทราบกันดีว่า การได้ใช้ภาษาอังกฤษบ่อยๆ ทำให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ภาษาได้ดี และการเตรียมฐานในการเรียนภาษาต่างประเทศของเด็กให้มั่นคงก่อนที่จะเรียนในชั้นสูงขึ้นไปจะช่วยสร้างทัศนคติที่ดีต่อการเรียนภาษาต่างประเทศและมีฐานความรู้เพียงพอที่จะสามารถเรียนด้วยตนเองได้ในภาคเรียนปกติ ซึ่งจะส่งผลต่อการเรียนภาษาต่างประเทศอื่นๆ ได้ด้วย แต่การเรียนการสอนตามปกติในโรงเรียนไม่เอื้ออำนวยให้ผู้สอนจัดสภาพแวดล้อมดังกล่าวได้ การวิจัยกึ่งทดลองนี้จึงได้จัดทำขึ้นเพื่อศึกษารูปแบบของการจัดค่ายภาษาอังกฤษที่เหมาะสมกับเด็กไทยซึ่งมีโอกาสที่จะสื่อสารกับเจ้าของภาษาต่างประเทศน้อยและต้องเรียนในห้องเรียนใหญ่ ซึ่งไม่เอื้อให้เด็กมีโอกาสฝึกฝนการใช้ภาษาต่างประเทศ รูปแบบของการจัดค่ายภาษาอังกฤษนี้จะเป็นแบบที่ประกอบด้วยการเริ่มสร้างพื้นฐานสำหรับการเรียนในภาคปกติโดยการเริ่มสร้างพื้นฐานในรูปแบบของการเรียนแบบเข้มในภาคฤดูร้อน 12 วัน วัตถุประสงค์ของการวิจัย ได้แก่ 1) เพื่อศึกษาพฤติกรรมการเรียนภาษาอังกฤษ และความสามารถด้านการฟัง-พูดภาษาอังกฤษของนักเรียนกลุ่มตัวอย่างก่อนและหลังการเข้าค่ายภาษาภาคฤดูร้อน 2) เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมการเรียนภาษาอังกฤษของนักเรียนกลุ่มตัวอย่างหลังการเรียนภาษาอังกฤษในภาคการศึกษาที่ 1/2549 3) เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมการเรียนภาษาอังกฤษของนักเรียนกลุ่มตัวอย่างกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของภาคการศึกษาที่ 1/2549 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยได้มาจากการสุ่มแบบเจาะจง คือเป็นนักเรียนที่จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ที่มีครูภาษาอังกฤษผ่านการอบรมวิธีการสอนฟัง-พูดภาษาอังกฤษกับคณะผู้วิจัยและจะเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 หลังการเข้าค่ายภาษาอังกฤษภาคฤดูร้อน กลุ่มตัวอย่างเหล่านี้ต้องมีภูมิลำเนาที่ผู้ปกครองหรือครูสามารถรับส่งได้และได้รับการอนุญาตจากผู้ปกครอง กลุ่มตัวอย่างมีจำนวน 29 คน จากโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครศรีธรรมราชจำนวน 7 แห่ง ซึ่งกระจายอยู่ใน 7 อำเภอ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วยเครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูลระหว่างการเข้าค่ายภาษาอังกฤษ ได้แก่ 1) แบบสำรวจทัศนคติและพฤติกรรมเกี่ยวกับการเรียนภาษาอังกฤษของนักเรียนก่อนการเข้าค่ายภาษาอังกฤษ 2) แบบทดสอบความสามารถในการฟัง-พูดภาษาอังกฤษก่อนและหลังการเข้าค่ายภาษาอังกฤษ3) แบบสังเกตพฤติกรรมระหว่างการเข้าค่ายภาษาอังกฤษ เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูลระหว่างภาคการศึกษาที่ 1/2549 ประกอบด้วย 1) แบบสังเกตพฤติกรรมระหว่างเรียน 2) การสัมภาษณ์ผู้สอนภาษาอังกฤษอย่างไม่เป็นทางการ 3) คะแนนการสอบปลายภาคการศึกษาที่ 1/2549 เครื่องมือที่ใช้ในการทดลองสอนระหว่างเข้าค่ายภาษาอังกฤษภาคฤดูร้อนประกอบด้วย 1) แผนการสอน CD-ROM 2) CD-ROM ชุด abc ของเล่นพลาสติกใช้ในการสอนกิจกรรม Toybox เช่น สัตว์ต่างๆ ผัก-ผลไม้ รถมอเตอร์ไซค์ ตุ๊กตา 3) VDO นิทาน เรื่องสั้นภาษาอังกฤษสำหรับเด็ก 4) CD-ROM สอนภาษาอังกฤษ

ผลการศึกษาพบว่า หลังการเข้าค่ายภาษาอังกฤษภาคฤดูร้อน นักเรียนกลุ่มตัวอย่างมีพฤติกรรมทางการเรียนในเชิงบวก และมีความสามารถด้านการฟัง-พูดภาษาอังกฤษสูงขึ้นกว่าก่อนการเข้าค่ายอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.01 ผลของการติดตามผลการเรียนภาษาอังกฤษเป็นระยะเวลา 1 ภาคการศึกษาแสดงให้เห็นว่า 1) คะแนนการฟังหลังการเข้าค่ายมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับคะแนนการฟังปลายภาคและคะแนนรวมวิชาภาษาอังกฤษปลายภาคอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 2) คะแนนการพูดหลังการเข้าค่ายมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับคะแนนการพูดปลายภาคอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 และ 3) คะแนนการพูดหลังการเข้าค่ายมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับคะแนนรวมปลายภาคอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 สามารถกล่าวโดยสรุปได้ว่าการเข้าร่วมกิจกรรมค่ายภาษาอังกฤษภาคฤดูร้อน แม้จะเป็นระยะเวลาสั้นๆ ก็เพียงพอที่จะทำให้นักเรียนกลุ่มตัวอย่างมีพฤติกรรมทางการเรียนภาษาอังกฤษในเชิงบวกและมีความสามารถในการฟัง-พูดภาษาอังกฤษยั่งยืนพอสมควร สำหรับการศึกษาวิจัยครั้งต่อไปควรทำการวิจัยกับนักเรียนในทุกๆ ระดับการศึกษาและหลายๆ บริบทเพื่อดูว่าจะได้ผลการศึกษาที่เหมือนหรือต่างกันเพียงใด และอย่างไร นอกจากนั้นควรศึกษาตัวแปรอื่นเพิ่มด้วย เช่น ความสามารถทางภาษาอังกฤษ เป็นต้น

`

การสอนฟังและพูดภาษาอังกฤษแบบเข้มให้แก่นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 จังหวัดนครศรีธรรมราชINTENSIVE TEACHING OF ENGLISH LISTENING AND SPEAKING TO PRATOMSUKSA 2 STUDENTS IN NAKHON SI THAMMARAT is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.