ผลการอบรมแบบเข้มเพื่อพัฒนาทักษะการฟังและพูดภาษาอังกฤษให้แก่ครูที่สอนภาษาอังกฤษในช่วงชั้นที่ 1 ในจังหวัดนครศรีธรรมราช
ENGLISH LISTENING AND SPEAKING: RESEARCH ON THE EFFECTS OF INTENSIVE ENGLISH TEACHER TRAINING AT PREPARATORY LEVEL IN NAKHON SI THAMMARAT
: ชื่อผู้วิจัย ผศ.ดร.ชลลดา เลาหวิริยานนท์
: ตำแหน่ง นักวิชาการศึกษา
: ครูและบุคลากรทางการศึกษา
: ปี 2550
: 245
บทคัดย่อ (Abstract)
ปัญหาที่ครูสอนภาษาอังกฤษในระดับประถมศึกษาส่วนใหญ่ไม่มีวุฒิทางการศึกษาวิชาเอกหรือโทภาษาอังกฤษเป็นปัญหาที่หยั่งรากยาวนานและมีผลกระทบต่อคุณภาพการเรียนการสอนภาษาอังกฤษที่ประเทศไทยกำลังประสบอยู่ในขณะนี้ และอีกประการหนึ่งผลของการศึกษาเกี่ยวกับความต้องการใช้ภาษาอังกฤษของนักเรียนนักศึกษารวมทั้งผู้ใช้ภาษาอังกฤษในทุกระดับ แสดงให้เห็นว่าทักษะการฟัง-พูด เป็นทักษะที่ผู้เรียนและผู้ใช้ต้องการพัฒนา งานวิจัยกึ่งทดลองครั้งนี้ทำขึ้นเพื่อศึกษารูปแบบการจัดอบรมครูผู้สอนภาษาอังกฤษในช่วงชั้นที่ 1 ที่สามารถช่วยพัฒนาทักษะการฟัง-การพูดภาษาอังกฤษของครูที่สอนภาษาอังกฤษในช่วงชั้นที่ 1 ได้ วัตถุประสงค์อีกประการหนึ่งของการศึกษานี้ คือเพื่อศึกษาทัศนคติของครูที่เข้ารับการอบรมที่มีต่อภาษาอังกฤษ และความมั่นใจในการใช้และการสอนภาษาอังกฤษในช่วงชั้นที่ 1 และประการสุดท้าย คือเพื่อศึกษาความสามารถทางการสอนทักษะการฟัง-พูดภาษาอังกฤษของครูที่สอนในช่วงชั้นที่ 1 ในจังหวัดนครศรีธรรมราช หลังการอบรม กลุ่มตัวอย่างเป็นครูที่สอนภาษาอังกฤษในช่วงชั้นที่ 1 จำนวน 33 คน จากโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครศรีธรรมราช จำนวน 27 โรงเรียน กลุ่มตัวอย่างเหล่านี้ได้มาจากการสุ่มแบบเจาะจง คือต้องเป็นผู้สมัครใจ มีความต้องการที่จะพัฒนาความสามารถด้านการฟัง-พูดและการสอนฟัง-พูดภาษาอังกฤษ และครู 16 คนจาก 33 คน ต้องสอนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ในภาคการศึกษาที่ 1/2549 การศึกษาแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 เป็นการอบรมให้ความรู้ทั้งด้านภาษาอังกฤษ และการสอนฟัง-พูดภาษาอังกฤษพร้อมฝึกปฏิบัติรายบุคคล ใช้เวลา 14 วัน ระยะที่ 2 เป็นการติดตามผลการสอนที่สถานศึกษาต้นสังกัด ซึ่งครูทุกคนได้รับการนิเทศการสอนคนละ 3 ครั้ง ตลอดภาคการศึกษาที่ 1/ 2549 ใช้เวลา 10 วัน เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูลมี 5 รายการ ได้แก่ 1. แบบสอบถามเพื่อสำรวจข้อมูลพื้นฐาน ทัศนคติ และความต้องการของผู้เข้ารับการอบรม 2. แบบสัมภาษณ์เพื่อวัดความสามารถในการฟัง-พูดก่อนและหลังการอบรม 3. บันทึกความคิดเห็นระหว่างการอบรม 4. แบบฟอร์มการสังเกตการสอน และ 5. การสัมภาษณ์อย่างไม่เป็นทางการหลังการสังเกตการสอน เครื่องมือที่ใช้ในการทดลอง มี 6 รายการ ดังนี้ 1. กิจกรรมประกอบการสอน 2. กิจกรรมเสริมทักษะการฟัง-พูดของผู้เข้าอบรม 3. แผนการสอน/เอกสารการสอนพร้อมสื่อประกอบการสอนต่างๆ และข้อสอบปลายภาคทักษะการฟัง-พูดภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่หนึ่ง 4. แผนการสอน/เอกสารการสอนพร้อมสื่อประกอบการสอนต่างๆ และข้อสอบปลายภาคทักษะการฟัง-พูดภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่สอง 5. แผนการสอน/เอกสารการสอนพร้อมสื่อประกอบการสอนต่างๆ และข้อสอบปลายภาคทักษะการฟัง-พูดภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่สาม และ 6. Audio Scriptsพร้อม CD-ROM
ผลการศึกษาพบว่าครูกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีทัศนคติในเชิงบวกต่อภาษาอังกฤษ มีความมั่นใจในความสามารถด้านการฟัง-พูดและการสอนฟัง-พูดภาษาอังกฤษมากขึ้น แต่มีครูบางคนแสดงความกังวลว่าจะยังไม่สามารถสอนฟัง-พูดภาษาอังกฤษได้ดี ผลการสัมภาษณ์ครูหลังการทดลองแสดงให้เห็นว่าทักษะการฟัง-พูดภาษาอังกฤษของครูที่เข้ารับการอบรมสูงกว่าทักษะการฟัง-พูดของครูก่อนเข้ารับการอบรมอย่างมีนัยสำคัญ และผลจากการสังเกตการสอนชี้ให้เห็นว่าในการติดตามการสอนทั้ง 3 ครั้ง ครูมีพัฒนาการการสอนที่ดีขึ้นๆ และส่วนใหญ่สามารถสอนได้ในระดับดี แต่อย่างไรก็ตามยังไม่สามารถออกเสียงภาษาอังกฤษได้ถูกต้องและไม่นิยมใช้เครื่องเล่นซีดี เพื่อให้นักเรียนได้ฟังเสียงเจ้าของภาษา สาเหตุอีกประการหนึ่งที่ทำให้ครูไม่เน้นเรื่องการสอนฟังโดยใช้เสียงเจ้าของภาษาเป็นต้นแบบแต่ใช้เสียงตนเองแทนคือ ข้อสอบวัดความรู้ระดับชาติซึ่งไม่ได้วัดความสามารถด้านการฟัง-พูด นอกจากนี้ยังพบว่า แผนการสอน เอกสารการสอนและสื่อประกอบการสอนที่ได้รับจากการอบรมในครั้งนี้มีประโยชน์ต่อการเรียนการสอนมาก รูปแบบของการจัดอบรมที่จะให้ผลดีที่สุดควรเป็นการอบรมแบบต่อเนื่องที่ใช้ระยะเวลานานพอสมควรแทนการอบรมแบบเข้ม ทั้งนี้เพื่อให้ครูสามารถเรียนรู้และแก้ไขการออกเสียงที่ถูกต้องได้
ผลการอบรมแบบเข้มเพื่อพัฒนาทักษะการฟังและพูดภาษาอังกฤษให้แก่ครูที่สอนภาษาอังกฤษในช่วงชั้นที่ 1 ในจังหวัดนครศรีธรรมราชENGLISH LISTENING AND SPEAKING: RESEARCH ON THE EFFECTS OF INTENSIVE ENGLISH TEACHER TRAINING AT PREPARATORY LEVEL IN NAKHON SI THAMMARAT is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.