ผลของการใช้เฟสบุ๊คที่มีต่อสมรรถภาพด้านการเรียนของนักศึกษาในเขตกรุงเทพมหานคร
The Effects of Facebook Usage on Academic Competency of Students in Bangkok Metropolitan Area
: ชื่อผู้วิจัย วิไลลักษณ์ เสรีตระกูล
: ตำแหน่ง นักวิชาการศึกษา
: อุดมศึกษา
: ปี 2557
: 554
บทคัดย่อ (Abstract)
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการใช้เฟสบุ๊คของนักศึกษาในประเด็นเกี่ยวกับรูปแบบการใช้งาน แรงจูงใจในการใช้ การใช้ประโยชน์เชิงสร้างสรรค์ ผลกระทบที่ได้รับจากการใช้ อัตราส่วนของนักศึกษาที่ติดการใช้งานเฟสบุ๊ค และเพื่อหาแนวทางในการส่งเสริมการใช้เฟสบุ๊คในเชิงสร้างสรรค์ โดยใช้ระเบียบวิธีการวิจัยแบบผสมผสานทั้งการวิจัยเชิงปริมาณและการวิจัยเชิงคุณภาพ ในส่วนของการวิจัยเชิงปริมาณใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงสำรวจ สุ่มตัวอย่างนักศึกษา 1,080 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถามที่ให้นักศึกษาตอบด้วยตนเอง ส่วนการวิจัยเชิงคุณภาพใช้การสนทนากลุ่ม ในกลุ่มอาจารย์และกลุ่มนักศึกษา ผลการศึกษาพบว่า นักศึกษาใช้เฟสบุ๊คผ่านทางสมาร์ทโฟน ใช้เฟสบุ๊ควันละหลายๆ ครั้ง แต่ละครั้งที่ใช้จะใช้อยู่ที่ประมาณ 10 - 20 นาที นักศึกษานิยมใช้เฟสบุ๊คพูดคุยกับเพื่อน แรงจูงใจในการใช้เฟสบุ๊คของนักศึกษาคือใช้เพื่อคลายเครียดและใช้ในเวลาที่รู้สึกเบื่อ ประโยชน์เชิงสร้างสรรค์ที่นักศึกษาใช้มากที่สุดคือใช้ติดตามข่าวสาร ทำให้รู้ทันโลกปัจจุบันได้อย่างรวดเร็ว นักศึกษาไม่ได้รับผลกระทบทางลบจากการใช้เฟสบุ๊ค ทั้งผลกระทบด้านการเรียนและความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น จะมีก็แต่เพียงผลกระทบด้านสุขภาพเพียงเล็กน้อย นักศึกษาที่ติดการใช้งานมีอยู่ร้อยละ 34.8 และร้อยละ 46.8 มีการใช้งานเฟสบุ๊คในระดับปกติ สำหรับปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อผลการเรียนของนักศึกษามีเพียงปัจจัยเดียวคือ ทักษะการบริหารจัดการเวลา หากนักศึกษาสามารถบริหารจัดการเวลาได้ดีก็จะทำให้มีผลการเรียนดี แต่การใช้เฟสบุ๊คไม่มีอิทธิพลต่อผลการเรียนของนักศึกษา และไม่มีผลต่อการขาดเรียนหรือมาเรียนสาย ข้อเสนอแนะที่ได้จากการศึกษาครั้งนี้คือ อาจารย์ผู้สอนควรนำเฟสบุ๊คมาใช้เป็นสื่อเสริมในการสอน ทั้งนี้เพื่อเป็นการชี้นำให้นักศึกษาเห็นแนวทางในการนำเฟสบุ๊คมาใช้ประโยชน์เชิงสร้างสรรค์
ผลของการใช้เฟสบุ๊คที่มีต่อสมรรถภาพด้านการเรียนของนักศึกษาในเขตกรุงเทพมหานครThe Effects of Facebook Usage on Academic Competency of Students in Bangkok Metropolitan Area is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.