แบบจำลองความสัมพันธ์เชิงสาเหตุพฤติกรรมหลีกเลี่ยงการเป็นหนี้ของครู สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เขตพื้นที่การศึกษากรุงเทพมหานคร
Causal Model of Debt Aversion Behavior: Case Study of Teachers of Office of the Basic Education Commission of Thailand, Bangkok Educational Service
: ชื่อผู้วิจัย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปิยดา สมบัติวัฒนา
: ตำแหน่ง นักวิชาการศึกษา
: ครูและบุคลากรทางการศึกษา
: ปี 2557
: 574
บทคัดย่อ (Abstract)
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ดังนี้ 1) เพื่อนำเสนอข้อมูลสถานการณ์เกี่ยวกับการมีเงินกู้ยืม วัตถุประสงค์การกู้ยืม การผ่อนชำระเงินกู้และพฤติกรรมหลีกเลี่ยงการเป็นหนี้ของครู 2) เพื่อพัฒนาแบบจำลองความสัมพันธ์เชิงสาเหตุสำหรับทำนายพฤติกรรมหลีกเลี่ยงการเป็นหนี้ของครู ด้วยการประยุกต์ตัวแปรกลุ่มตัวแบบความเชื่อด้านสุขภาพร่วมกับตัวแปรการคิดเชิงบัญชี กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยเป็นครูที่ปฏิบัติหน้าที่ในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 507 คน การเก็บรวบรวมข้อมูลใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือวิจัย ซึ่งมีค่าความเชื่อมั่นระหว่าง .945 ถึง .572 ผู้วิจัยใช้โปรแกรมวิเคราะห์สถิติทางสังคมศาสตร์สำหรับการวิเคราะห์สถิติพรรณนา และใช้โปรแกรม LISREL 8.72 ในการวิเคราะห์ความสัมพันธ์โครงสร้างเชิงเส้น
ผลการวิจัยพบว่า ครูที่เป็นกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ไม่มียอดเงินกู้ยืมคงค้างในช่วงเวลาที่ตอบแบบสอบถาม การกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัยเป็นวัตถุประสงค์การกู้ยืมอันดับแรกของครูที่มียอดเงินกู้ยืมคงค้าง แหล่งเงินกู้ยืมที่ครูชำระเงินอยู่มากที่สุดคือ ธนาคารของรัฐ ยอดเงินกู้ยืมคงค้างเฉลี่ยต่อคนเท่ากับ 604,136.60 บาท สัดส่วนเงินผ่อนชำระเฉลี่ยร้อยละ 33.45 ของเงินเดือนครู มีค่าเฉลี่ยพฤติกรรมหลีกเลี่ยงการเป็นหนี้ด้านการจัดการรายได้ค่าใช้จ่ายและเงินออมสูงที่สุด รองลงมาเป็นด้านการสนับสนุนการหลีกเลี่ยงการเป็นหนี้และด้านการควบคุมระดับหนี้สินตามลำดับ รูปแบบของแบบจำลองความสัมพันธ์เชิงสาเหตุพฤติกรรมหลีกเลี่ยงการเป็นหนี้ของครูหลังปรับแบบจำลองแล้วมีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์ โดยพบว่า พฤติกรรมหลีกเลี่ยงการเป็นหนี้ได้รับอิทธิพลทางตรงจากการรับรู้ความสามารถของตนในการหลีกเลี่ยงการเป็นหนี้และได้รับอิทธิพลทางอ้อมจากการรับรู้ประโยชน์จากการทำพฤติกรรมหลีกเลี่ยงการเป็นหนี้ การรับรู้ความเสียหายจากการมีปัญหาหนี้สิน การรับรู้อุปสรรคของการทำพฤติกรรมหลีกเลี่ยงการเป็นหนี้ โดยผ่านสิ่งชักนำภายนอกและสิ่งชักนำภายใน แต่การรับรู้โอกาสเสี่ยงที่จะมีปัญหาหนี้สินและการคิดเชิงบัญชีไม่ส่งอิทธิพลต่อการทำพฤติกรรมหลีกเลี่ยงการเป็นหนี้ จากผลการวิจัยแสดงว่า ตัวแบบความเชื่อด้านสุขภาพสามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่ออธิบายพฤติกรรมอื่นนอกเหนือจากพฤติกรรมสุขภาพได้ ส่วนตัวแปรการคิดเชิงบัญชีตามแบบจำลองที่สอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์พบว่า เป็นตัวแปรผลของตัวแปรจากตัวแบบความเชื่อด้านสุขภาพอีกตัวแปรหนึ่ง การวิจัยครั้งต่อไปควรทำวิจัยเชิงทดลองเพื่อพัฒนาการรับรู้ความสามารถของบุคคลในการหลีกเลี่ยงการเป็นหนี้และทำวิจัยเพื่อค้นหาตัวแปรทางจิตรู้คิดที่อาจเป็นตัวแปรคั่นกลางระหว่างสิ่งชักนำภายในและพฤติกรรมหลีกเลี่ยงการเป็นหนี้
แบบจำลองความสัมพันธ์เชิงสาเหตุพฤติกรรมหลีกเลี่ยงการเป็นหนี้ของครู สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เขตพื้นที่การศึกษากรุงเทพมหานครCausal Model of Debt Aversion Behavior: Case Study of Teachers of Office of the Basic Education Commission of Thailand, Bangkok Educational Service is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.