การวิจัยเชิงเปรียบเทียบพัฒนาการด้านนโยบายและยุทธศาสตร์ทางการศึกษาของประเทศในประชาคมอาเซียน: กรณีศึกษาประเทศเวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
: ชื่อผู้วิจัย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วีระเทพ ปทุมเจริญวัฒนา
: ตำแหน่ง นักวิชาการศึกษา
: นโยบายการศึกษา
: ปี 2557
: 866
บทคัดย่อ (Abstract)
การวิจัยเชิงเปรียบเทียบพัฒนาการด้านนโยบายและยุทธศาสตร์ทางการศึกษาของประเทศในประชาคมอาเซียน: กรณีศึกษาประเทศเวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) วิเคราะห์บริบทที่เป็นปัจจัยเงื่อนไขที่ส่งผลต่อการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ทางการศึกษาของประเทศเวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ระหว่าง ค.ศ. 1980-2013 (2) วิเคราะห์นโยบายและยุทธศาสตร์ทางการศึกษาที่สำคัญของประเทศเวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ระหว่าง ค.ศ.1980-2013 (3) วิเคราะห์กลไกขับเคลื่อนการนำนโยบายและยุทธศาสตร์ทางการศึกษาไปใช้จนประสบความสำเร็จและผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศจากการนำนโยบายและยุทธศาสตร์ทางการศึกษาไปใช้ของประเทศเวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ระหว่าง ค.ศ. 1980-2013 (4) เพื่อสังเคราะห์เปรียบเทียบนโยบายและยุทธศาสตร์ทางการศึกษา ปัจจัยและเงื่อนไขและกลไกขับเคลื่อนที่ส่งผลต่อการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์ทางการศึกษาของประเทศเวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซียกับประเทศไทย (5) เพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์ทางการศึกษาในการปฏิรูปการศึกษาสำหรับประเทศไทย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ แบบวิเคราะห์เอกสาร แบบสัมภาษณ์ และแนวทางการสนทนากลุ่ม
ผลการวิจัย พบว่า นโยบายและยุทธศาสตร์ทางการศึกษาที่สำคัญในรอบ 3 ทศวรรษของประเทศเวียดนาม นโยบายการส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษ และการส่งเสริมให้ทุกคนได้รับการศึกษาโดยผ่านแผนการศึกษาเพื่อปวงชนปี 1990-2000 และแผนปฏิบัติการการศึกษาเพื่อปวงชนแห่งชาติ ปี 2003-2015 ส่วนมาเลเซีย คือนโยบายการพัฒนาครู และการสร้างอัตลักษณ์ผ่านระบบการศึกษา และอินโดนีเซียคือการส่งเสริมให้ทุกคนในประเทศเข้าถึงการศึกษาทุกระดับอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยการกระจายอำนาจการจัดการศึกษาสู่ระดับท้องถิ่น องค์กร และชุมชน ตามแผนปฏิบัติการแห่งชาติว่าด้วยนโยบาย “Education for All” พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติปี 2003 และแผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติระยะยาว ค.ศ. 2005–2025 โดยทั้งสามประเทศมีนโยบายและยุทธศาสตร์ทางการศึกษาดังกล่าวเพื่อตอบรับกับวิสัยทัศน์การกำหนดนโยบายในการพัฒนาประเทศทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาวเพื่อการก้าวสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ดังที่เวียดนามกำหนดนโยบายโด่ย เหม่ย (Doi Moi) มาเลเซีย คือ นโยบายวิสัยทัศน์ 2020 และอินโดนีเซีย คือ แผนพัฒนาเศรษฐกิจอินโดนีเซีย ค.ศ. 2011–2025 การสังเคราะห์เปรียบเทียบปัจจัยเงื่อนไขและกลไกที่ส่งผลต่อการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์ทางการศึกษาที่สำคัญ พบว่ามีปัจจัยเงื่อนไขและกลไกที่สำคัญที่เป็นจุดร่วมกันของทั้งประเทศเวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย คือ การมีนโยบายการศึกษาที่มีความต่อเนื่อง และเป็นแผนระยะยาว สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้ การมีหน่วยงานที่รับผิดชอบในการดำเนินนโยบายด้านการศึกษาโดยเฉพาะ การมีระบบการเมืองที่มั่นคงและการมีผู้นำและผู้บริหารประเทศที่มีวิสัยทัศน์ทางการศึกษาอย่างชัดเจน และการมีมาตรการส่งเสริมความร่วมมือกับเครือข่ายในการจัดการและสนับสนุนการศึกษา ซึ่งจากการศึกษาเปรียบเทียบนโยบายและยุทธศาสตร์ทางการศึกษาของทั้งสามประเทศและประเทศไทย จึงมีข้อเสนอเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์ทางการศึกษาในการปฏิรูปการศึกษาสำหรับประเทศไทย ดังนี้ คือ นโยบายการพัฒนาและติดตามผลการใช้นโยบายการศึกษา นโยบายด้านการพัฒนาครู นโยบายการกระจายอำนาจการจัดการศึกษา นโยบายการสร้างความรับผิดรับชอบในการจัดการศึกษา และนโยบายการวัดและประเมินผลการศึกษา
การวิจัยเชิงเปรียบเทียบพัฒนาการด้านนโยบายและยุทธศาสตร์ทางการศึกษาของประเทศในประชาคมอาเซียน: กรณีศึกษาประเทศเวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.