กลยุทธ์การขับเคลื่อนนโยบายปฏิรูปการศึกษา: การวิจัยและพัฒนาแบบก่อรูป
Strategies for driving education reform policy: A formative research and development
: ชื่อผู้วิจัย ศ.ดร.สุวิมล ว่องวาณิช
: ตำแหน่ง นักวิชาการศึกษา
: นโยบายการศึกษา
: ปี 2556
: 937
บทคัดย่อ (Abstract)
การขับเคลื่อนนโยบายปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษแรก (พ.ศ.2543-2552) ไม่ค่อยประสบผลเท่าที่ควรด้วยวิธีการขับเคลื่อนแบบบนลงล่าง เน้นการส่งบันทึกเอกสารสั่งการถึงผู้ปฏิบัติ จัดประชุมชี้แจงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจัดทำคู่มือชี้แจงแนวทางการปฏิบัติ รายงานวิจัยฉบับนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยที่ได้พยายามวิจัยและพัฒนากลยุทธ์ใหม่สำหรับการขับเคลื่อนนโยบายปฏิรูปการศึกษาเพื่อให้ผู้ปฏิบัติโดยเฉพาะครูสามารถทำงานได้ตามนโยบายที่เปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยของรัฐบาล โดยใช้การปฏิรูปการศึกษาที่ใช้การประเมินเป็นฐาน และแนวคิดการทำงานแบบร่วมมือรวมพลังระหว่างมหาวิทยาลัยกับโรงเรียน วิธีวิทยาการวิจัยที่ใช้เป็นการวิธีวิจัยและพัฒนาแบบก่อรูป มีระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี มีการนำกลยุทธ์การขับเคลื่อนนโยบายไปทดลองปฏิบัติในโรงเรียนที่เป็นกรณีศึกษา 5 แห่ง และเขตพื้นที่การศึกษา 40 เขต
ผลการวิจัยนำไปสู่การจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายโดยเห็นควรให้กำหนดหน่วยขับเคลื่อนนโยบาย 5 ระดับให้ชัดเจน ได้แก่ หน่วยขับเคลื่อนระดับนโยบาย ระดับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ระดับเขตพื้นที่การศึกษา ระดับสถานศึกษา และระดับห้องเรียน แต่ละระดับต้องมีผู้นำการขับเคลื่อนที่เข้มแข็ง และควรมีการกำหนดองค์กรหรือคณะบุคคลทำหน้าที่เป็นหน่วยประสานงานการขับเคลื่อน ในการวิจัยนี้ได้ใช้สถาบันอุดมศึกษา (โดยนักวิชาการมหาวิทยาลัย) เป็นผู้นำการขับเคลื่อนเป็นหน่วยประสานงานการขับเคลื่อน ผลการวิจัยและพัฒนาสามารถกำหนดแนวคิดและกิจกรรมการเสริมพลังอำนาจครูได้หลายแบบ เช่น การให้ การเรียนรู้แบบมิตรวิพากษ์ ข้อมูลสะท้อนกลับ การทำงานแบบบูรณาการงาน การสร้างชุมชนการเรียนรู้เชิงวิชาชีพ และการสืบสอบแบบร่วมมือรวมพลัง หลังการทดลองมีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางบวกที่เกิดขึ้นกับผู้บริหาร ครู และนักเรียนในโรงเรียนที่เป็นกรณีศึกษา รวมทั้งเขตพื้นที่การศึกษา โครงการวิจัยนี้ขอเสนอให้เขตพื้นที่การศึกษาขับเคลื่อนนโยบายปฏิรูปโดยใช้การวิจัยเป็นฐาน นอกจากนี้ยังได้เสนอแนะให้มีการพัฒนาศักยภาพของบุคคลที่จะเป็นพี่เลี้ยงมืออาชีพ (professional mentor) ที่จะสนับสนุนการทำงานกับครู โดยการปรับหลักสูตรการครุศึกษาที่เน้นคุณลักษณะของครูรุ่นใหม่ที่มีความยึดมั่นผูกพันกับการวิจัย และความเป็นครูแบบสะท้อนคิด
กลยุทธ์การขับเคลื่อนนโยบายปฏิรูปการศึกษา: การวิจัยและพัฒนาแบบก่อรูปStrategies for driving education reform policy: A formative research and development is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.