การสังเคราะห์ตัวบ่งชี้และองค์ประกอบที่ส่งผลต่อประสิทธิผลการบริหารงานวิชาการของมหาวิทยาลัยราชภัฏในภาคใต้
Synthesis of Indicators and Components Affecting Academic Administration Effectiveness of Southern Rajabhat University
: ชื่อผู้วิจัย ดร.นวรัตน์ ไวชมภู
: ตำแหน่ง -
: อุดมศึกษา
: ปี 2561
: 568
บทคัดย่อ (Abstract)
การวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาการสังเคราะห์ตัวบ่งชี้และองค์ประกอบที่ส่งผลต่อประสิทธิผลการบริหารงานวิชาการของมหาวิทยาลัยราชภัฏในภาคใต้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) สังเคราะห์องค์ประกอบและตัวบ่งชี้การบริหารงานวิชาการ 2) สังเคราะห์องค์ประกอบและตัวบ่งชี้ประสิทธิผลการบริหารงานวิชาการ และ 3) ศึกษาองค์ประกอบการบริหารงานวิชาการที่ส่งผลต่อประสิทธิผลการบริหารงานวิชาการของมหาวิทยาลัยราชภัฏในภาคใต้ ดำเนินการวิจัยเป็น 3 ขั้นตอน เพื่อตอบวัตถุประสงค์ทั้ง 3 ข้อ กลุ่มตัวอย่าง คือ อาจารย์ในมหาวิทยาลัยราชภัฏในภาคใต้ 5 แห่ง ประกอบด้วย 1) มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต 2) มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี 3) มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช 4) มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา และ 5) มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จำนวน 510 คน ใช้วิธีสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน เครื่องมือที่ใช้ คือ แบบสอบถามที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นจากการทบทวนวรรณกรรม ผ่านการตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหาโดยใช้ค่า IOC จากผู้เชี่ยวชาญทั้ง 5 คน ได้ค่า IOC แบบสอบถามการบริหารงานวิชาการของมหาวิทยาลัยราชภัฏในภาคใต้ เท่ากับ .967 และได้ค่า IOC แบบสอบถามประสิทธิผลการบริหารงานวิชาการของมหาวิทยาลัยราชภัฏในภาคใต้ เท่ากับ .931 วิเคราะห์องค์ประกอบเชิงสำรวจด้วยวิธีวิเคราะห์องค์ประกอบหลัก ใช้วิธีหมุนแกนองค์ประกอบแบบออโธโกนอลด้วยวิธีแวริแมกซ์ เพื่อค้นหาองค์ประกอบและตัวบ่งชี้การบริหารงานวิชาการและประสิทธิผลการบริหารงานวิชาการของมหาวิทยาลัยราชภัฏในภาคใต้ และการวิเคราะห์ถดถอยเชิงพหุ เพื่อวิเคราะห์องค์ประกอบการบริหารงานวิชาการที่ส่งผลต่อประสิทธิผลการบริหารงานวิชาการของมหาวิทยาลัยราชภัฏในภาคใต้
ผลการศึกษา พบว่า
1. องค์ประกอบและตัวบ่งชี้การบริหารงานวิชาการของมหาวิทยาลัยราชภัฏในภาคใต้ ประกอบด้วย 10 องค์ประกอบ 75 ตัวบ่งชี้ ได้แก่ 1) การพัฒนาอาจารย์และการส่งเสริมแหล่งเรียนรู้และการวัดผลประเมินผลและการเทียบโอน มี 15 ตัวบ่งชี้ 2) การส่งเสริมแหล่งเรียนรู้ สื่อ นวัตกรรมและเทคโนโลยี มี 11 ตัวบ่งชี้ 3) การประกันคุณภาพสถานศึกษา มี 8 ตัวบ่งชี้ 4) การบริหารและการพัฒนาอาจารย์ มี 5 ตัวบ่งชี้ 5) การจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาผู้เรียน มี 6 ตัวบ่งชี้ 6) การพัฒนาศักภาพบุคลากรเพื่อการปรับปรุงหลักสู่การปฏิบัติ มี 7 ตัวบ่งชี้ 7) ระบบและกลไลการปรับปรุงหลักสูตร มี 7 ตัวบ่งชี้ 8) การจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 มี 6 ตัวบ่งชี้ 9) การวัดผลประเมินผลและการเทียบโอนลงสู่การปฏิบัติ มี 5 ตัวบ่งชี้ 10) การสร้างเครือข่ายเพื่อพัฒนาการเรียนการสอน มี 5 ตัวบ่งชี้
2. องค์ประกอบและตัวบ่งชี้ประสิทธิผลการบริหารงานวิชาการ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏในภาคใต้ ประกอบด้วย 5 องค์ประกอบ 42 ตัวบ่งชี้ ได้แก่ 1) คุณธรรมจริยธรรมและการปฏิบัติงานของบัณฑิต มี 14 ตัวบ่งชี้ 2) ผลสัมฤทธิ์ทางทักษะในศตวรรษที่ 21 มี 11 ตัวบ่งชี้ 3) ผลสัมฤทธิ์ตามมาตรฐานหลักสูตร มี 6 ตัวบ่งชี้ 4) ความพึงพอใจในการทำงานของอาจารย์ มี 8 ตัวบ่งชี้ และ 5) การถ่ายทอดองค์ความรู้ตามสาขาวิชา มี 3 ตัวบ่งชี้
3. องค์ประกอบการบริหารงานวิชาการที่ส่งผลต่อประสิทธิผลการบริหารงานวิชาการของมหาวิทยาลัยราชภัฏในภาคใต้ ได้แก่ 1) การประกันคุณภาพสถานศึกษา 2) การวัดผลประเมินผลและการเทียบโอน 3) การจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 4) การบริหารและการพัฒนาอาจารย์ 5) ระบบและกลไกการปรับปรุงหลักสูตร 6) การพัฒนาอาจารย์และการส่งเสริมแหล่งเรียนรู้และการวัดผลประเมินผลและการเทียบโอน และ 7) การส่งเสริมแหล่งเรียนรู้ สื่อ นวัตกรรมและเทคโนโลยี โดยองค์ประกอบการประกันคุณภาพสถานศึกษา เป็นปัจจัยที่ส่งต่อประสิทธิผลการบริหารงานวิชาการของมหาวิทยาลัยราชภัฏในภาคใต้ มากที่สุด (Beta = .302) และรองลงมา ได้แก่ องค์ประกอบการพัฒนาอาจารย์และการส่งเสริมแหล่งเรียนรู้และการและการวัดผลประเมินผลและการเทียบโอน (Beta = -.195) โดยทั้ง 7 ตัวแปรสามารถอธิบายความแปรปรวนของประสิทธิผลการบริหารงานวิชาการของมหาวิทยาลัยราชภัฏในภาคใต้ได้ร้อยละ 50 (adj.R2 = .504, p = .000) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 และมีความคลาดเคลื่อนมาตรฐานในการทำนาย .30288
การสังเคราะห์ตัวบ่งชี้และองค์ประกอบที่ส่งผลต่อประสิทธิผลการบริหารงานวิชาการของมหาวิทยาลัยราชภัฏในภาคใต้Synthesis of Indicators and Components Affecting Academic Administration Effectiveness of Southern Rajabhat University is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.