รูปแบบการบริหารโรงเรียนวิถีพุทธ จังหวัดสงขลา
School Administration Model in Buddhist Way of Life, Songkhla Province

: ชื่อผู้วิจัย พระมหา ดร.ศุภวัฒน์ สุขดำ
: ตำแหน่ง -
: อื่นๆ
: ปี 2562
: 800

logo onec

บทคัดย่อ (Abstract)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1) เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบันและปัญหาการบริหารโรงเรียนวิถีพุทธ จังหวัดสงขลา 2) เพื่อสร้างรูปแบบการบริหารโรงเรียนวิถีพุทธ จังหวัดสงขลา 3) เพื่อตรวจสอบและยืนยันรูปแบบการบริหารโรงเรียนวิถีพุทธ จังหวัดสงขลา โดยมีวิธีวิจัย 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 การศึกษาสภาพปัจจุบันและปัญหาการบริหารโรงเรียนวิถีพุทธ จังหวัดสงขลา เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบันและปัญหา เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นวิธีการสัมภาษณ์เชิงลึกกลุ่มผู้ให้ข้อมูลสำคัญ จำนวน 54 คน ระยะที่ 2 การสร้างรูปแบบการบริหารโรงเรียนวิถีพุทธ จังหวัดสงขลา เพื่อหาระดับการปฏิบัติของการดำเนินงานโรงเรียนวิถีพุทธ เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 112 โรงเรียน และระยะที่ 3 การตรวจสอบและยืนยันรูปแบบการบริหารโรงเรียนวิถีพุทธ จังหวัดสงขลา เพื่อกำหนดรูปแบบการบริหารโรงเรียนวิถีพุทธ จังหวัดสงขลา ที่ยอมรับและนำไปใช้ได้ เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นวิธีการสัมมนากลุ่มอิงผู้เชี่ยวชาญ (Connoisseurship) จำนวน 10 คน การวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป เพื่อการวิจัยทางสังคมศาสตร์ สถิติที่ใช้วิเคราะห์ คือ ค่าความถี่ (Frequencies) ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) และค่าที (t-test)

ผลการวิจัยพบว่า

1. ผลการศึกษาสภาพปัจจุบันและปัญหาการบริหารโรงเรียนวิถีพุทธ จังหวัดสงขลาสรุปผลดังนี้ โรงเรียนที่สมัครเข้าร่วมโครงการโรงเรียนวิถีพุทธ จังหวัดสงขลา โดยยึดหลักการด้านนโยบายการบริหาร ด้านการวางแผนการดำเนินการ ด้านการนิเทศติดตามผล และด้านปัญหาและอุปสรรคในการบริหารและข้อเสนอแนะ จึงพบสภาพปัจจุบันในการบริหารโรงเรียนวิถีพุทธว่าโครงการโรงเรียนวิถีพุทธได้กำหนดไว้ในแผนกลยุทธ์ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และโรงเรียนสนองนโยบายด้วยการกำหนดไว้ในแผนยุทธศาสตร์ เพื่อขับเคลื่อนกระบวนการดำเนินการให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของโครงการโรงเรียนวิถีพุทธ โดยได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารสถานศึกษา และความร่วมมือจากครูผู้สอน นักเรียน บุคลากรทุกฝ่าย และชุมชน โดยเน้นในการพัฒนาคุณธรรม และจริยธรรมให้แก่นักเรียน แต่ในการบริหารจัดการของโครงการโรงเรียนวิถีพุทธ ยังประสบปัญหาในด้านการนิเทศ ติดตาม ประเมินผลของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา รวมถึงผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้รับผิดชอบโครงการโรงเรียนวิถีพุทธขาดความสนใจและให้ความสำคัญของโครงการ นโยบายขาดความต่อเนื่อง ขาดงบประมาณ และอัตลักษณ์ 29 ประการ สู่การเป็นโรงเรียนวิถีพุทธบางตัวชี้วัดโรงเรียนไม่สามารถปฏิบัติได้ จึงเป็นเหตุให้การประเมินอัตลักษณ์ดังกล่าวแต่ละรอบไม่ผ่านเกณฑ์การประเมินตามตัวชี้วัดอัตลักษณ์ 29 ประการ สู่การเป็นโรงเรียนวิถีพุทธ

2. ผลการสร้างรูปแบบการบริหารโรงเรียนวิถีพุทธ จังหวัดสงขลา ได้ผลสรุปดังนี้ รูปแบบ มีทฤษฏีการบริหาร 7 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านการวางแผน 2) ด้านการจัดองค์กร 3) ด้านการจัดบุคลากรปฏิบัติงาน 4) ด้านการอำนวยการ 5) ด้านการประสานงาน 6) การงบประมาณ และ 7) ด้านการกำกับดูแล ซึ่งผลการวิจัยเปรียบเทียบข้อมูลเกี่ยวกับระดับการปฏิบัติของการดำเนินงานโรงเรียนวิถีพุทธ ที่มีผลคะแนนการประเมินอัตลักษณ์ 29 ประการ สู่การเป็นโรงเรียนวิถีพุทธ ระดับคะแนนมากที่สุด ระดับคะแนนน้อยที่สุด และโดยรวม พบว่า อยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน โดยเรียงลำดับตามค่าเฉลี่ยจากมากไปหาน้อย พบว่า ด้านอำนวยการ มีค่าเฉลี่ยสูงสุด รองลงมาคือ ด้านการจัดองค์กร และด้านงบประมาณ มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด เหมือนกันทุกระดับคะแนน และการหาความแตกต่างกันของระดับคะแนนมากที่สุดและระดับคะแนนน้อยที่สุด พบว่า โดยรวมแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ระดับการปฏิบัติของการดำเนินงานโรงเรียนวิถีพุทธ ด้านการจัดองค์กร และด้านการจัดบุคลากรปฏิบัติงานแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

3. ผลการตรวจสอบและยืนยันรูปแบบการบริหารโรงเรียนวิถีพุทธ จังหวัดสงขลา โดยใช้การสัมมนากลุ่มอิงผู้เชี่ยวชาญ (Connoisseurship) จำนวน 10 คน พบว่า รูปแบบการบริหารโรงเรียนวิถีพุทธ จังหวัดสงขลา มีองค์ประกอบการบริหาร 7 องค์ประกอบ ได้แก่ ด้านการวางแผน ด้านการจัดองค์กร ด้านการจัดบุคลากรปฏิบัติงาน ด้านการอำนวยการ ด้านการประสานงาน ด้านงบประมาณ และด้านการนิเทศ กำกับและติดตาม ซึ่งเป็นรูปแบบที่ต้องนำมาบริหารโรงเรียนวิถีพุทธ จังหวัดสงขลา ควบคู่ไปกับอัตลักษณ์ 29 ประการ สู่การเป็นโรงเรียนวิถีพุทธ มี 5 ด้าน 29 ตัวชี้วัด ได้แก่ ด้านกายภาพ (7 ตัวชี้วัด) ด้านการเรียนการสอน (5 ตัวชี้วัด) ด้านพฤติกรรมผู้บริหารโรงเรียน ครู และนักเรียน (5 ตัวชี้วัด) ด้านกิจกรรมวันพระ (4 ตัวชี้วัด) และด้านส่งเสริมวิถีพุทธ (8 ตัวชี้วัด) ซึ่งผู้เชี่ยวชาญมีความคิดเห็นต่อรูปแบบการบริหารโรงเรียนวิถีพุทธ จังหวัดสงขลา โดยภาพรวมทั้งหมดอยู่ในระดับมากที่สุด ด้านความเหมาะสม กระบวนการพัฒนา การบริหารโรงเรียนวิถีพุทธในรูปแบบมีความชัดเจนเหมาะสมและนำไปดำเนินงานได้ รูปแบบนี้มีความสอดคล้องกับการดำเนินงานของโรงเรียนวิถีพุทธ จังหวัดสงขลา และรูปแบบการบริหารโรงเรียนวิถีพุทธ จังหวัดสงขลา ที่ระบุไว้ในรูปแบบมีความเหมาะสมและสามารถนำไปดำเนินงานได้ รูปแบบได้ระบุองค์ประกอบของรูปแบบได้ชัดเจน และรูปแบบนี้มีความเหมาะสมในการนำไปใช้ในการดำเนินงานโรงเรียนวิถีพุทธ จังหวัดสงขลา ส่วนด้านความเป็นไปได้ รูปแบบนี้เป็นที่ยอมรับได้ มีความเป็นไปได้ที่โรงเรียนที่สมัครเข้าร่วมโครงการโรงเรียนวิถีพุทธ จะนำรูปแบบนี้ไปใช้ และรูปแบบนี้นำไปใช้ในสถานการณ์จริงได้

`

รูปแบบการบริหารโรงเรียนวิถีพุทธ จังหวัดสงขลาSchool Administration Model in Buddhist Way of Life, Songkhla Province is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.