การพัฒนากลยุทธ์เพื่อพัฒนาโรงเรียนมัธยมศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้
The Development of Strategy for Secondary Schools Development in the Special Development Zone of Southern Border Provinces
: ชื่อผู้วิจัย ดร.อภิวรรณ ยอดมงคล
: ตำแหน่ง -
: ประถม - มัธยมศึกษา
: ปี 2562
: 1156
บทคัดย่อ (Abstract)
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนากลยุทธ์เพื่อพัฒนาโรงเรียนมัธยมศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ 2) ประเมินกลยุทธ์เพื่อโรงเรียนมัธยมศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยผู้วิจัยได้ดำเนินการ 2 ระยะ คือระยะที่ 1 การพัฒนากลยุทธ์เพื่อพัฒนาโรงเรียนมัธยมศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย 3 ขั้นตอน คือ 1) การสังเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมภายในและสภาพแวดล้อมภายนอกของโรงเรียนมัธยมศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้จากเอกสารแผนกลยุทธ์ของโรงเรียนมัธยมศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 68 โรงเรียน 2) การจัดทำร่างกลยุทธ์เพื่อพัฒนาโรงเรียนมัธยมศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ 3) การทบทวนผลการสังเคราะห์สภาพแวดล้อมภายในและสภาพแวดล้อมภายนอก และร่างกลยุทธ์เพื่อพัฒนาโรงเรียนมัธยมศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ประกอบด้วยวิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าประสงค์ ประเด็นกลยุทธ์ กลยุทธ์ ตัวชี้วัดและมาตรการ โดยการสัมภาษณ์ เชิงลึกผู้บริหารสถานศึกษาและหัวหน้าฝ่ายแผนงานของโรงเรียนที่ประสบผลสำเร็จด้านการบริหารและได้รับรางวัลดีเด่นระดับชาติด้านคุณภาพ/วิชาการหรือมีผลการประเมินจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์กรมหาชน) รอบที่ 3 ในระดับดีหรือดีมากทุกตัวบ่งชี้ 6 โรงเรียน ๆ ละ 2 คน รวมทั้งหมด 12 คน ระยะที่ 2 การประเมินกลยุทธ์ ด้วยแบบประเมินกลยุทธ์แบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ เกี่ยวกับด้านความสอดคล้อง ด้านความเหมาะสม ด้านความเป็นไปได้ และด้านความเป็นประโยชน์ของกลยุทธ์เพื่อพัฒนาโรงเรียนมัธยมศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ จากผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ ความสามารถในด้านการจัดทำแผนกลยุทธ์และด้านการบริหารสถานศึกษา จำนวน 20 คน
ผลการวิจัยพบว่า
1. การพัฒนากลยุทธ์เพื่อพัฒนาโรงเรียนมัธยมศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ จากการสังเคราะห์เอกสารแผนกลยุทธ์ของโรงเรียนมัธยมศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งหมด 68 โรงเรียน การวิเคราะห์ TOWS Matrix และจากการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้บริหารสถานศึกษาและหัวหน้าฝ่ายแผนงานของโรงเรียนที่ประสบผลสำเร็จด้านการบริหารและได้รับรางวัลดีเด่นระดับชาติด้านคุณภาพ/วิชาการ ผลการพัฒนากลยุทธ์ มีดังนี้ กลยุทธ์ที่พัฒนาขึ้นประกอบด้วย วิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าประสงค์ ประเด็นกลยุทธ์ กลยุทธ์ ตัวชี้วัด และมาตรการโดยมีกลยุทธ์ 14 กลยุทธ์ ได้แก่ 1) เพิ่มโอกาสของผู้เรียนทุกคนในเขตบริการให้ได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง เท่าเทียมและมีคุณภาพสอดคล้องกับสังคมพหุวัฒนธรรม 2) เร่งพัฒนาคุณภาพผู้เรียนทุกคนให้มีมาตรฐานด้วยกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลายสอดคล้องกับสังคมพหุวัฒนธรรม 3) ส่งเสริมการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนทุกกลุ่มให้เกิดความรู้อย่างมีคุณภาพและมีทักษะที่จำเป็นในสังคม พหุวัฒนธรรมรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงบนพื้นฐานความมั่นคงทางสังคม 4) ส่งเสริมการบูรณาการศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่นและแหล่งเรียนรู้ตามธรรมชาติกับการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับสังคมพหุวัฒนธรรม 5) ส่งเสริมและพัฒนาแหล่งเรียนรู้และสื่อการเรียนรู้ต่างๆ ให้มีมาตรฐานเปิดโอกาสให้ผู้เรียนทุกคนได้เข้าถึงแหล่งเรียนรู้ที่สอดคล้องกับสังคมพหุวัฒนธรรม 6) ส่งเสริมและพัฒนาผู้เรียนที่มีความเชี่ยวชาญและเป็นเลิศเฉพาะด้านให้มีคุณภาพและปริมาณสัมพันธ์กับความต้องการของตลาดแรงงานในพื้นที่ 7) เสริมสร้างความภูมิใจและความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์และการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขในสังคมพหุวัฒนธรรม 8) ปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมที่เน้นความมีวินัยในตนเอง ความเป็นพลเมือง พลโลก และการดำรงตนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อความมั่นคงทางด้านสังคมและเศรษฐกิจ 9) เสริมสร้างสมรรถนะของผู้บริหารและครูให้มีความเป็นมืออาชีพ 10) พัฒนาระบบการบริหารจัดการศึกษาที่มีคุณภาพสอดคล้องกับสังคมพหุวัฒนธรรม 11) พัฒนาโรงเรียนให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ 12) ระดมทรัพยากรเพื่อสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ 13) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมระหว่างโรงเรียน ชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดการศึกษา 14) รักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้เรียน ครู บุคลากรและสถานศึกษา
2. ผลการประเมินกลยุทธ์เพื่อพัฒนาโรงเรียนมัธยมศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ในด้านความสอดคล้องของกลยุทธ์เพื่อพัฒนาโรงเรียนมัธยมศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่า ผลการประเมินอยู่ในระดับมากถึงมากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยกับเกณฑ์การประเมินกลยุทธ์ที่พัฒนาขึ้นมีความสอดคล้องตามรายการประเมินทุกข้อผลการประเมินความเหมาะสม ความเป็นไปได้ และความเป็นประโยชน์ของวิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าประสงค์ ประเด็นกลยุทธ์และกลยุทธ์เพื่อพัฒนาโรงเรียนมัธยมศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้ง 14 กลยุทธ์ พบว่า อยู่ในระดับมากถึงมากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยกับเกณฑ์การประเมิน มีความเหมาะสม ความเป็นไปได้ และความเป็นประโยชน์ตามรายการที่ประเมินทุกข้อ
การพัฒนากลยุทธ์เพื่อพัฒนาโรงเรียนมัธยมศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้The Development of Strategy for Secondary Schools Development in the Special Development Zone of Southern Border Provinces is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.