การพัฒนาตัวบ่งชี้พฤติกรรมผู้นำการเปลี่ยนแปลงของหัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้ โรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
The Development of Change Agent Behavior Indicators of Learning Program Heads of Expansion Education Schools in the Three Southern Border Provinces

: ชื่อผู้วิจัย ดร.ถวัลย์ สุวรรณอินทร์
: ตำแหน่ง -
: ครูและบุคลากรทางการศึกษา
: ปี 2562
: 785

logo onec

บทคัดย่อ (Abstract)

การวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมผู้นำการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบและตัวบ่งชี้ของพฤติกรรมผู้นำการเปลี่ยนแปลง และน้ำหนักความสำคัญของแต่ละตัวบ่งชี้ของพฤติกรรมผู้นำการเปลี่ยนแปลงของหัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้โรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กระบวนการวิจัยมี 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ศึกษาพฤติกรรมผู้นำการเปลี่ยนแปลงของหัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้โดยการวิเคราะห์ สังเคราะห์เอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้องและการสัมภาษณ์เชิงลึก ผู้เชี่ยวชาญจำนวน 9 คน ระยะที่ 2 ศึกษาองค์ประกอบและตัวบ่งชี้ของพฤติกรรมผู้นำการเปลี่ยนแปลงของหัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้โดยการสอบถามหัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้โรงเรียนขยายโอกาสในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวน 432 คน ด้วยแบบสอบถามที่มีค่าความเที่ยงตรงแบบ CVI เท่ากับ .91 และค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ .988 แล้ววิเคราะห์องค์ประกอบเชิงสำรวจ (EFA) สกัดปัจจัยด้วยวิธีแวริแมกซ์ ระยะที่ 3 ศึกษาน้ำหนักความสำคัญของแต่ละตัวบ่งชี้ของพฤติกรรมผู้นำการเปลี่ยนแปลงโดยการสอบถามหัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้โรงเรียนขยายโอกาสในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีวิทยฐานะชำนาญการพิเศษขึ้น จำนวน 30 คน แล้วนำค่าเฉลี่ย (x̅) ไปเปรียบเทียบกับเกณฑ์การประเมิน

ผลการวิจัยพบประเด็นสำคัญ ดังนี้

1. ผลการศึกษาองค์ประกอบและตัวบ่งชี้กับหัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้ โรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ 6 องค์ประกอบ 48 ตัวบ่งชี้ ดังนี้

1.1 องค์ประกอบที่ 1 พฤติกรรมผู้นำด้านอัตลักษณ์ เป็นองค์ประกอบเดิมมีตัวบ่งชี้จำนวน 17 ตัวบ่งชี้ที่สำคัญ เช่น 1) การใช้ถ้อยคำ น้ำเสียงน่าฟัง เป็นมิตรและได้สาระ 2) การเห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าตนเอง 3) การรู้จักและเข้าใจตนเองว่ามีจุดเด่นและข้อบกพร่องใดบ้าง

1.2 องค์ประกอบที่ 2 พฤติกรรมผู้นำด้านการพัฒนาตนเป็นองค์ประกอบเดิม มีตัวบ่งชี้จำนวน 12 ตัวบ่งชี้ที่สำคัญ เช่น 1) ความสามารถในการบริหารจัดการเกี่ยวกับหลักสูตรการสอน 2) ความสามารถในการนิเทศและประเมินผลด้านการสอน 3) ความสามารถในการใช้ข้อมูลสารสนเทศในการพัฒนาหลักสูตรและจัดการเรียนการสอนเพื่อความสำเร็จของผู้เรียน

1.3 องค์ประกอบที่ 3 พฤติกรรมผู้นำด้านเทคนิคการจัดการเรียนการสอน เป็นองค์ประกอบที่มีตัวบ่งชี้ที่จัดใหม่จำนวน 7 ตัวบ่งชี้ที่สำคัญ เช่น 1) การให้ความสนใจในการเยี่ยมห้องเรียนเพื่อความมุ่งหมายในการพัฒนาการเรียนการสอน 2) ความสามารถในการสังเกตและการให้ข้อมูลย้อนกลับแก่ครูในกลุ่มสาระการเรียนรู้ 3) การมีทักษะในการวางแผนงานของกลุ่มสาระการเรียนรู้

1.4 องค์ประกอบที่ 4 พฤติกรรมผู้นำด้านการวางแผนจัดการงบประมาณและพัสดุ เป็นองค์ประกอบที่มีตัวบ่งชี้ที่จัดใหม่จำนวน 5 ตัวบ่งชี้ ที่สำคัญ เช่น 1) การจัดหาทรัพยากรต่างๆ เพื่อช่วยให้ครูมีความสะดวกในการจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ 2) การขออนุมัติเบิกจ่ายวัสดุอุปกรณ์ให้เป็นไปตามโครงการต่างๆ ของกลุ่มสาระการเรียนรู้ 3) การประชุมวางแผนการปฏิบัติงานร่วมกับครูในกลุ่มสาระการเรียนรู้

1.5 องค์ประกอบที่ 5 พฤติกรรมผู้นำด้านเทคนิค เป็นองค์ประกอบเดิม มีตัวบ่งชี้จำนวน 4 ตัวบ่งชี้ที่สำคัญ เช่น 1) การมีทักษะในการวิจัยและประเมินผล 2) การมีทักษะในการเลือกวิธีการสอนที่ดี 3) การมีทักษะในการพัฒนาปรับปรุงงานของกลุ่มสาระการเรียนรู้

1.6 องค์ประกอบที่ 6 พฤติกรรมผู้นำด้านการศึกษา เป็นองค์ประกอบเดิม มีตัวบ่งชี้จำนวน 3 ตัวบ่งชี้ที่สำคัญ เช่น 1) การเป็นผู้นำในการสนับสนุนการมีส่วนร่วมในการจัดการเรียนการสอน 2) การใช้เทคโนโลยีและข้อมูลที่หลากหลายในการพัฒนา

2. ผลการศึกษาระดับน้ำหนักความสำคัญของพฤติกรรมผู้นำการเปลี่ยนแปลงของหัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้กับหัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้ที่มีวิทยฐานะชำนาญการพิเศษโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่า ค่าเฉลี่ยตั้งแต่ 3.77 – 4.37 โดยตัวบ่งชี้มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากทุกตัว

`

การพัฒนาตัวบ่งชี้พฤติกรรมผู้นำการเปลี่ยนแปลงของหัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้ โรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้The Development of Change Agent Behavior Indicators of Learning Program Heads of Expansion Education Schools in the Three Southern Border Provinces is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.