ความสำเร็จตามจุดเน้นการพัฒนาผู้เรียน: องค์ประกอบ ตัวบ่งชี้ และแนวทางการพัฒนาสำหรับสถานศึกษาขั้นพื้นฐานในจังหวัดชายแดนภาคใต้
Focused Point Achievement of Student Improvement : Components, Indicators, and Improving Measures for Basic Education Schools, Southern Border Provinces

: ชื่อผู้วิจัย ดร.รัชนี ทองเงิน
: ตำแหน่ง -
: วัดประเมินผลการศึกษา
: ปี 2562
: 573

logo onec

บทคัดย่อ (Abstract)

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อวิเคราะห์องค์ประกอบ ตัวบ่งชี้ความสำเร็จตามจุดเน้นการพัฒนาผู้เรียน และแนวทางในการนำองค์ประกอบและตัวบ่งชี้ดังกล่าวไปพัฒนาคุณภาพผู้เรียนสำหรับสถานศึกษาขั้นพื้นฐานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยดำเนินการ 2 ขั้นตอน คือ 1) วิเคราะห์เอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับการสัมภาษณ์ผู้รู้และผู้มีประสบการณ์ เพื่อกำหนดองค์ประกอบ ตัวบ่งชี้และสร้างแบบสอบถามเพื่อการวิจัยเรื่อง องค์ประกอบและตัวบ่งชี้ความสำเร็จตามจุดเน้นการพัฒนาผู้เรียนสำหรับสถานศึกษาขั้นพื้นฐานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตรวจสอบคุณภาพแบบสอบถามดังกล่าวโดยการหาค่าความตรงตามเนื้อหาจากผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 6 คน ได้ค่า CVI เท่ากับ .96 นำแบบสอบถามไปทดลองใช้กับครูวิชาการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 50 คน ได้ค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ .961 แล้วได้นำแบบสอบถามไปใช้กับกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นครูวิชาการ จำนวน 242 คน นำข้อมูลมาวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงสำรวจ 2) นำตัวบ่งชี้ที่ได้มาสร้างแนวคำถามแล้วนำไปสัมภาษณ์ผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน 12 คน เพื่อหาแนวทางในการนำองค์ประกอบและตัวบ่งชี้ความสำเร็จตามจุดเน้นไปพัฒนาคุณภาพผู้เรียนสำหรับสถานศึกษาขั้นพื้นฐานในจังหวัดชายแดนภาคใต้

ผลการวิจัยพบว่า องค์ประกอบและตัวบ่งชี้ความสำเร็จตามจุดเน้นการพัฒนาผู้เรียนสำหรับสถานศึกษาขั้นพื้นฐานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย 13 องค์ประกอบ 72 ตัวบ่งชี้ ซึ่งสามารถจัดหมวดหมู่เป็น 4 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านผู้บริหารสถานศึกษา 4 องค์ประกอบ 25 ตัวบ่งชี้ คือ ภาวะผู้นำของผู้บริหารสถานศึกษา ความมุ่งมั่นตั้งใจจริงของผู้บริหารสถานศึกษา การบริหารแบบมีส่วนร่วม และการพัฒนาบุคลากร 2) ด้านครู 6 องค์ประกอบ 32 ตัวบ่งชี้ คือ คุณภาพการสอนของครู การจัดการเรียนรู้ของครู แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ของครู ปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคลากร ครูและนักเรียน สมรรถนะของครู และการเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการของครู 3) ด้านผู้ปกครอง 1 องค์ประกอบ 4 ตัวบ่งชี้ คือ การมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง และ 4) ด้านโรงเรียน 2 องค์ประกอบ 11 ตัวบ่งชี้ คือ บรรยากาศของโรงเรียน และสภาพแวดล้อมของโรงเรียน

ส่วนแนวทางในการนำองค์ประกอบและตัวบ่งชี้ความสำเร็จตามจุดเน้นไปพัฒนาคุณภาพผู้เรียนสำหรับสถานศึกษาขั้นพื้นฐานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีหลากหลายวิธี ได้แก่ 1) ผู้บริหารใช้รูปแบบวิธีการบริหารแบบแนวราบ และกำหนดนโยบายที่ชัดเจนในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน 2) ครูมีการปรับพฤติกรรมการสอนเป็นแบบผู้จัดกระบวนการ เป็นพี่เลี้ยงในการจัดการเรียนรู้และเปิดโอกาสให้นักเรียนได้เลือกเรียนตามความสนใจ 3) สถานศึกษาร่วมมือกับผู้ปกครองในการแก้ปัญหาการเรียนของนักเรียน 4) การสร้างวัฒนธรรมและข้อตกลงในการปฏิบัติงานร่วมกัน และ 5) นำแนวคิด “สถานที่ทำงานน่าอยู่ น่าทำงาน” ของกระทรวงสาธารณสุขมาเป็นแนวทางในการพัฒนาสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพกายและจิตที่ดี ที่จะทำให้ผู้เรียนมีความกระตือรือร้นในการเรียน

`

ความสำเร็จตามจุดเน้นการพัฒนาผู้เรียน: องค์ประกอบ ตัวบ่งชี้ และแนวทางการพัฒนาสำหรับสถานศึกษาขั้นพื้นฐานในจังหวัดชายแดนภาคใต้Focused Point Achievement of Student Improvement : Components, Indicators, and Improving Measures for Basic Education Schools, Southern Border Provinces is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.