รูปแบบการบริหารจัดการการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมของโรงเรียนขนาดเล็ก ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
Educational Management Model of Distance Learning Television for Small-Sized Schools in Three Southern Border Provinces
: ชื่อผู้วิจัย ดร.นิดา หมั่นดี
: ตำแหน่ง -
: เทคโนโลยีการศึกษา
: ปี 2562
: 1689
บทคัดย่อ (Abstract)
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมของโรงเรียนขนาดเล็ก ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยแบ่งการวิจัยออกเป็น 3 ระยะ ระยะที่ 1 ศึกษาสภาพการบริหารจัดการการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมของโรงเรียนขนาดเล็กในจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาสที่เป็นโรงเรียนกรณีศึกษา จำนวน 6 โรงเรียน โดยมีผู้ให้ข้อมูลสำคัญคือผู้บริหารโรงเรียน ครูวิชาการและครูผู้สอน รวมถึงตัวแทนของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย คือนักเรียน คณะกรรมการสถานศึกษาและผู้ปกครอง ได้มาด้วยการเลือกแบบเจาะจงตามคุณสมบัติที่กำหนด เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสัมภาษณ์กึ่งโครงสร้าง ด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึก และทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้การวิเคราะห์เนื้อหาเพื่อให้ได้ประเด็นสำคัญสำหรับการร่างรูปแบบ ระยะที่ 2 ร่างรูปแบบการบริหารจัดการการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมของโรงเรียนขนาดเล็ก ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมจัดทำร่างคู่มือการดำเนินการเสนอผู้ทรงคุณวุฒิด้วยการจัดทำสนทนากลุ่มเพื่อให้ได้รูปแบบและคู่มือการบริหารจัดการการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมของโรงเรียนขนาดเล็ก ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อนำไปทดลองใช้ ระยะที่ 3 ทดลองใช้ประเมินและปรับปรุงรูปแบบการบริหารจัดการการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมของโรงเรียนขนาดเล็ก ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยทดลองใช้กับโรงเรียนขนาดเล็กในจังหวัดปัตตานี จำนวน 1 โรงเรียน ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2560 มีการประเมินและปรับปรุง 3 ระยะ คือ 1) ประเมินก่อนการใช้รูปแบบด้วยแบบประเมิน 2) ประเมินระหว่างการใช้รูปแบบด้วยแบบสัมภาษณ์ และ 3) ประเมินหลังการใช้รูปแบบด้วยแบบประเมิน และแบบสัมภาษณ์
ผลการวิจัยพบว่า รูปแบบการบริหารจัดการการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมของโรงเรียนขนาดเล็ก ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำแนกได้เป็น 2 ส่วน คือ การบริหารจัดการ และการจัดการเรียนการสอน โดยแต่ละส่วนมีแนวทางการปฏิบัติ ดังนี้
1. การบริหารจัดการ ผู้บริหารต้องมีการวางแผนกลยุทธ์ โดยการสร้างความตระหนักและความพร้อมให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จัดทำแผนกลยุทธ์สำหรับการบริหารจัดการการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมของโรงเรียน และสร้างความร่วมมือกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง มีการจัดการทรัพยากรบุคคล โดยการแต่งตั้งผู้รับผิดชอบการจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมของโรงเรียน จัดครูเข้าชั้นเรียน และพัฒนาบุคลากร มีการจัดสรรงบประมาณสำหรับซ่อมแซมอุปกรณ์ ซื้อสื่อ วัสดุการเรียนการสอน และสนับสนุนการพัฒนาบุคลากร มีการจัดการระบบการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม โดยการติดตั้งให้ถูกต้องเหมาะสม บำรุงรักษา และซ่อมแซมอุปกรณ์ทางไกลผ่านดาวเทียมเพื่อให้สามารถใช้งานได้อยู่เสมอ มีการบริหารจัดการวิชาการ โดยการปรับโครงสร้างหลักสูตรให้สอดคล้องกับโรงเรียนต้นทางและเหมาะสมกับบริบทของโรงเรียน กำหนดแนวทางการวัดประเมินผลของโรงเรียน และนิเทศติดตามการจัดการเรียนการสอนทางไกลผ่านดาวเทียมอย่างต่อเนื่อง
2. การจัดการเรียนการสอน ครูผู้สอนต้องมีการปรับตารางเวลาให้สอดคล้องกับโรงเรียนต้นทางและบริบทของโรงเรียน ใช้สื่อเสริมในการจัดการศึกษาโดยการจัดหาสื่อ ให้นักเรียนดูการสาธิตจากครูโรงเรียนต้นทาง และผลิตสื่อร่วมกับนักเรียนในการจัดการเรียนการสอน ครูมีการพัฒนาการเรียนการสอน โดยจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ เตรียมความพร้อมให้นักเรียนก่อนการเรียนทางไกลผ่านดาวเทียม จัดห้องเรียนให้เอื้อต่อการจัดการเรียนการสอนทางไกลผ่านดาวเทียม จัดการเรียนการสอนและช่วยเหลือนักเรียนเมื่อมีปัญหา มีการวัดประเมินผลการจัดการศึกษา โดยเน้นให้ครูต้องมีการวัดประเมินผลตัวชี้วัดทุกตัวเพื่อนำผลที่ได้ไปพัฒนานักเรียนเป็นรายบุคคล ทำให้การจัดการเรียนการสอนทางไกลผ่านดาวเทียมเป็นไปเพื่อพัฒนาผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
รูปแบบการบริหารจัดการการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมของโรงเรียนขนาดเล็ก ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ Educational Management Model of Distance Learning Television for Small-Sized Schools in Three Southern Border Provinces is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.