แนวโน้มความต้องการกำลังคนของตลาดแรงงานและการจ้างงานในอนาคตกับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้
Future Trend of Man Power Employment and Educational Quality Development of Southern Border Provinces
: ชื่อผู้วิจัย รองศาสตราจารย์ ดร.นิรันดร์ จุลทรัพย์
: ตำแหน่ง -
: นโยบายการศึกษา
: ปี 2559
: 559
บทคัดย่อ (Abstract)
การวิจัยเรื่องแนวโน้มความต้องการกำลังคนของตลาดแรงงานและการจ้างงานในอนาคตกับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาภาวะการจ้างงานของตลาดแรงงานในปัจจุบันและแนวโน้มความต้องการกำลังคนของตลาดแรงงาน และการจ้างงานในอนาคตของจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาคุณภาพการศึกษา การพัฒนาอาชีพ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาคุณภาพชีวิตในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประชากรและกลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาเป็นผู้บริหารและบุคลากรทางการศึกษาในระดับมัธยมศึกษา อาชีวศึกษา และอุดมศึกษาใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และผู้บริหารและบุคลากรในสถานประกอบการทางด้านการผลิตภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม และภาคธุรกิจบริการใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถามปลายปิดชนิดตรวจสอบรายการ ชนิดมาตราส่วนประมาณค่า และชนิดลำดับรายการ และแบบสอบถามปลายเปิด ผลการวิจัยพบว่า
1. แนวทางการจัดการศึกษาของสถานศึกษาเพื่อให้ผู้สำเร็จการศึกษามีความรู้ความสามารถที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ส่วนใหญ่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่การจัดการเรียนการสอนควรเน้นถึงวิธีการให้ผู้เรียนนำความรู้ไปปฏิบัติในการทำงานและการดำรงชีวิต (x̄ = 4.62) รองลงมาคือควรจัดระบบการศึกษาที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนเลือกเรียนได้ตามความสนใจ ความถนัด และความสามารถ โดยมีสาขาวิชาให้เลือกเรียนได้อย่างหลากหลาย (x̄ = 4.61) และควรมีการนำนักเรียน นิสิต นักศึกษา ออกไปศึกษาดูงานยังสถานประกอบการ (x̄ = 4.61)
2. กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ เห็นด้วยว่าการผลิตกำลังแรงงานให้มีความรู้ ความสามารถที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งสถานศึกษา สถานประกอบการ ประชาชนและสำนักงานจัดหางาน และเห็นด้วยว่าข้อมูลด้านแรงงาน เช่น ตำแหน่งงานว่าง จำนวนผู้ว่างงาน คุณสมบัติของแรงงานมีผลต่อการกำหนดแนวทางในการศึกษาเพื่อผลิตกำลังแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน
3. กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ให้ความสำคัญต่อการผลิตกำลังแรงงาน ที่มีความขยัน อดทน และมีความจงรักภักดีต่อองค์กรมากที่สุด รองลงมาคือการมีความรู้ ทักษะ และความชำนาญงาน
4. สำหรับแนวทางในการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้
4.1 ด้านการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาควรเน้นการฝึกประสบการณ์จริงจากสถานประกอบการ และมุ่งเน้นการจัดการศึกษาสายอาชีพ เพราะสามารถทำงานได้ทันที
4.2 ด้านการพัฒนาอาชีพควรเพิ่มทักษะการสื่อสารภาษาต่างประเทศและการใช้คอมพิวเตอร์
4.3 ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต ควรปลูกฝังให้ผู้เรียนมีนิสัยการประหยัดและอดออม
4.4 ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมควรปลูกฝังตั้งแต่ในห้องเรียนให้ผู้เรียนมีจิตสำนึกในการรักษาสิ่งแวดล้อม
แนวโน้มความต้องการกำลังคนของตลาดแรงงานและการจ้างงานในอนาคตกับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้Future Trend of Man Power Employment and Educational Quality Development of Southern Border Provinces is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.