การพัฒนาองค์ประกอบและตัวบ่งชี้ภาวะผู้นำเชิงกลยุทธ์ของผู้บริหารโรงเรียนประถมศึกษา ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
Development of Factors and Indicators of Strategic Leadership of Primary School Administrators in the Three Southern Border Provinces

: ชื่อผู้วิจัย ดร.ชณัฐ พรหมศรี
: ตำแหน่ง -
: ครูและบุคลากรทางการศึกษา
: ปี 2560
: 1028

logo onec

บทคัดย่อ (Abstract)

การวิจัยนี้ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพและวิจัยเชิงปริมาณ โดยมีวัตถุประสงค์ของการวิจัยเพื่อศึกษาและวิเคราะห์องค์ประกอบและตัวบ่งชี้และศึกษาแนวทางการนำองค์ประกอบและตัวบ่งชี้ภาวะผู้นำเชิงกลยุทธ์ของผู้บริหารโรงเรียนประถมศึกษา ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปใช้ ขั้นตอนการดำเนินการวิจัยมี 3 ระยะ 4 ขั้นตอน คือ 1) การสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) กับผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้รู้แจ้งชัด (Known Group) จำนวน 9 คน และตรวจสอบเครื่องมือวิจัยจากผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 9 คน ได้ค่าดัชนีความเที่ยงตรงเชิงเนื้อหาทั้งฉบับ (S-CVI) เท่ากับ .94 นำเครื่องมือวิจัยไปทดลองใช้กับผู้บริหารโรงเรียนประถมศึกษา ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 30 คน ค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับ เท่ากับ .966 2) ดำเนินการใช้แบบสอบถามไปเก็บข้อมูลจากผู้บริหารโรงเรียนประถมศึกษา ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 200 คน นำข้อมูลมาวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงสำรวจ (Exploratory Factor Analysis : EFA) 3) นำองค์ประกอบและตัวบ่งชี้ที่ได้มาสร้างเป็นแบบสอบถามเพื่อเก็บข้อมูลกับกลุ่มผู้รู้แจ้งชัด ได้แก่ ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่ปฏิบัติหน้าที่เป็นหัวหน้ากลุ่มบริหารงานระดับโรงเรียนที่มีวิทยฐานะชำนาญการพิเศษขึ้นไป ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 45 คน 4) การสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้าง โดยวิธีการสัมภาษณ์ใช้แบบปฏิสัมพันธ์ (Interaction Interview) กับกลุ่มที่มีลักษณะเหมือนกับกลุ่มผู้ให้ข้อมูลและผู้บริหารโรงเรียน 3 คน รองผู้บริหารโรงเรียน 3 คน และหัวหน้ากลุ่มบริหารงานในสถานศึกษา 3 คน รวม 9 คน วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เชิงเนื้อหา

ผลการศึกษา พบว่า

1. องค์ประกอบหลัก องค์ประกอบย่อยและตัวบ่งชี้ภาวะผู้นำเชิงกลยุทธ์ของผู้บริหารโรงเรียนประถมศึกษา ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบหลัก 11 องค์ประกอบย่อย 73 ตัวบ่งชี้ ได้แก่ 1) องค์ประกอบหลักด้านการศึกษาและวิเคราะห์สภาพแวดล้อมขององค์กร ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบย่อย 21 ตัวบ่งชี้ ได้แก่ องค์ประกอบย่อยที่ 1 ด้านการศึกษาสภาพแวดล้อมขององค์กร มี 6 ตัวบ่งชี้ องค์ประกอบย่อยที่ 2 ด้านการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมขององค์กร มี 5 ตัวบ่งชี้ และองค์ประกอบย่อยที่ 3 ด้านการบริหารจัดการองค์กร มี 10 ตัวบ่งชี้ 2) องค์ประกอบหลักด้านการกำหนดกลยุทธ์ขององค์กร ประกอบด้วย 2 องค์ประกอบย่อย 16 ตัวบ่งชี้ ได้แก่ องค์ประกอบย่อยที่ 1 ด้านการกำหนดทิศทางและการวางแผนกลยุทธ์ขององค์กร มี 9 ตัวบ่งชี้ และองค์ประกอบย่อยที่ 2 ด้านการกำหนดกลยุทธ์ขององค์กร มี 7 ตัวบ่งชี้ 3) องค์ประกอบหลักด้านการวางแผนและประเมินกลยุทธ์ ประกอบด้วย 6 องค์ประกอบย่อย 36 ตัวบ่งชี้ ได้แก่ องค์ประกอบย่อยที่ 1 ด้านการวางแผน มี 4 ตัวบ่งชี้ องค์ประกอบย่อยที่ 2 ด้านการควบคุมองค์กร มี 10 ตัวบ่งชี้ องค์ประกอบย่อยที่ 3 ด้านการกำหนดมาตรฐานการปฏิบัติงาน มี 6 ตัวบ่งชี้ องค์ประกอบย่อยที่ 4 ด้านการประเมินผลการปฏิบัติงาน มี 5 ตัวบ่งชี้ องค์ประกอบย่อยที่ 5 ด้านการปฏิบัติงานกับมาตรฐาน มี 4 ตัวบ่งชี้ และองค์ประกอบย่อยที่ 6 ด้านการดำเนินการปรับปรุงแก้ไข มี 7 ตัวบ่งชี้

2. จากการตรวจสอบความเที่ยงตรงตามสภาพ พบว่า องค์ประกอบหลัก องค์ประกอบย่อยและตัวบ่งชี้ทุกตัวมีความเที่ยงตรงตามสภาพ

3. แนวทางนำองค์ประกอบและตัวบ่งชี้ภาวะผู้นำเชิงกลยุทธ์ของผู้บริหารโรงเรียนประถมศึกษา ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปใช้ มีแนวทางในการนำไปใช้ที่สำคัญ 4 แนวทาง 10 วิธีการ ซึ่งผู้บริหารโรงเรียนประถมศึกษา ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมอย่างหลากหลาย โดยวิธีการประชุม การสนทนากลุ่มย่อย การระดมพลังสมอง การรับฟังความคิดเห็น เปิดโอกาสร่วมกันวิเคราะห์สถานการณ์ และร่วมกันกำหนดกลยุทธ์ จากผู้ซึ่งมีบทบาทและมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของบริบทพื้นที่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

`

การพัฒนาองค์ประกอบและตัวบ่งชี้ภาวะผู้นำเชิงกลยุทธ์ของผู้บริหารโรงเรียนประถมศึกษา ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้Development of Factors and Indicators of Strategic Leadership of Primary School Administrators in the Three Southern Border Provinces is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.