ปัจจัยจำแนกการตัดสินใจศึกษาต่อระดับอาชีวศึกษาของนักเรียนในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย
The Discriminating Factors for Decision Making of Students to Study in Vocational Colleges in the Southern Region (Gulf of Thailand) Provincial Cluster
: ชื่อผู้วิจัย ดร.ภัคชุดา เสรีรัตน์
: ตำแหน่ง -
: อาชีวศึกษา
: ปี 2560
: 639
บทคัดย่อ (Abstract)
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ดังนี้ 1) เพื่อศึกษาปัจจัยจำแนกการตัดสินใจศึกษาต่อระดับอาชีวศึกษาของนักเรียนในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย และ 2) เพื่อเสนอแนวทางการบริหารจัดการที่จะให้นักเรียนในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยสนใจศึกษาต่อระดับอาชีวศึกษาเพิ่มขึ้น ตามปัจจัยจำแนกโดยใช้วิธีวิจัยแบบผสม คือ วิธีวิจัยเชิงปริมาณเพื่อศึกษาปัจจัยจำแนกการตัดสินใจศึกษาต่อระดับอาชีวศึกษาของนักเรียนในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย กลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพปีที่ 1 จํานวน 6 วิทยาลัย และนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 19 โรงเรียน รวมทั้งสิ้น 25 สถานศึกษาในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ประกอบด้วยจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และพัทลุง ปีการศึกษา 2560 จำนวน 543 คน เครื่องมือที่ใช้เก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถามความคิดเห็น สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูล คือ สถิติเบื้องต้นและการวิเคราะห์จำแนกกลุ่ม ด้วยวิธี Stepwise ซึ่งปัจจัยที่นำมาวิเคราะห์มีปัจจัยหลัก 4 ด้าน 18 ปัจจัยย่อย และวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ เพื่อหาแนวทางการบริหารจัดการที่จะให้นักเรียนในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยสนใจศึกษาต่อระดับอาชีวศึกษาเพิ่มขึ้นตามปัจจัยจำแนกโดยการสนทนากลุ่ม
ผลการวิจัยพบว่า
1. ปัจจัยที่สามารถจำแนกการตัดสินใจศึกษาต่อระดับอาชีวศึกษาของนักเรียนในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย เรียงลำดับจากมากไปหาน้อย คือ การสนับสนุน/ความคาดหวังของผู้ปกครอง ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ฐานะทางเศรษฐกิจของผู้ปกครอง คุณภาพสถานศึกษา เงินเดือน/ค่าตอบแทน และสิ่งแวดล้อมของสถานศึกษาตามลำดับ โดยสามารถพยากรณ์การตัดสินใจศึกษาต่อของนักเรียนได้ ร้อยละ 64.60 โดยมีฟังก์ชั่นการจำแนกกลุ่มได้ดังนี้
ฟังก์ชั่นการจำแนกกลุ่มจากคะแนนดิบ
D การตัดสินใจของนักเรียน = -2.398-1.462(EXP)+.784(ACH)+.598(ECO)+.712(QUA)-.585(SAL)+.462(EVI)
ฟังก์ชั่นการจำแนกกลุ่มจากคะแนนมาตรฐาน
Z การตัดสินใจของนักเรียน = -.911(EXP)+.483(ACH)+.460(ECO)+.416(QUA)-.348(SAL)+.287(EVI)
2. ผลการศึกษาแนวทางการบริหารจัดการที่จะให้นักเรียนในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยสนใจศึกษาต่อระดับอาชีวศึกษาเพิ่มขึ้นตามปัจจัยจำแนก แนวการบริหารจัดการที่ส่งผลต่อการตัดสินใจศึกษาต่อระดับอาชีวศึกษาของนักเรียน มีประเด็นที่สำคัญตามปัจจัยจำแนก ดังนี้ 1) ปัจจัยการสนับสนุน/ความคาดหวังของผู้ปกครอง มีแนวทางบริหารจัดการด้านการแนะแนวการศึกษาต่อและประชาสัมพันธ์ ด้านการสร้างภาพลักษณ์ที่ดี ด้านข้อมูลสารสนเทศความต้องการตลาดแรงงาน และด้านการปลูกฝังเจตคติการศึกษาต่อสายอาชีพ 2) ปัจจัยผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนมีแนวทางบริหารจัดการด้านพัฒนาหลักสูตรให้หลากหลาย และด้านความสนใจด้านอาชีพ 3) ฐานะทางเศรษฐกิจของผู้ปกครอง มีแนวทางบริหารจัดการด้านการส่งเสริมรายได้ระหว่างเรียน ด้านการประชาสัมพันธ์เพื่อเสริมสร้างรายได้ และด้านค่าใช้จ่ายในการศึกษา 4) คุณภาพสถานศึกษา มีแนวทางบริหารจัดการด้านการประชาสัมพันธ์คุณภาพสถานศึกษา ผลงานเด่น ๆ ด้านการพัฒนาหลักสูตรทวิศึกษา การสนับสนุนวัสดุ ครุภัณฑ์ที่ใช้ในการเรียนการสอน เพื่อสร้างมาตรฐานวิชาชีพ ให้เป็นที่ยอมรับ 5) เงินเดือน/ค่าตอบแทน มีแนวทางบริหารจัดการด้านการสร้างงานและด้านการสร้างเครือข่ายการหางานทำ 6) สิ่งแวดล้อมของสถานศึกษา มีแนวทางบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมในสถานศึกษาและสิ่งแวดล้อมทางสังคม และด้านการบริหารจัดการด้านระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน และมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ด้านนโยบายว่ามีความสำคัญในการบริหารจัดการที่จะให้นักเรียนในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยสนใจศึกษาต่อระดับอาชีวศึกษาเพิ่มขึ้น ได้แก่ นโยบายด้านการเพิ่มสัดส่วนผู้เรียนอาชีวศึกษา โครงสร้างหลักสูตรอาชีวศึกษา การใช้กระบวนการเทียบเคียงสมรรถนะ แบบ Benchmarking และการสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติม
ปัจจัยจำแนกการตัดสินใจศึกษาต่อระดับอาชีวศึกษาของนักเรียนในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยThe Discriminating Factors for Decision Making of Students to Study in Vocational Colleges in the Southern Region (Gulf of Thailand) Provincial Cluster is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.