รูปแบบการบริหารสถานศึกษาตามแนวคิดพหุวัฒนธรรมศึกษาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
Model of School Administration based on Multicultural Education In the Three Southern Border Provinces
: ชื่อผู้วิจัย ทิฆัมพร สมพงษ์
: ตำแหน่ง -
: อื่นๆ
: ปี 2559
: 401
บทคัดย่อ (Abstract)
การวิจัยนี้เป็นวิจัยแบบผสมผสานวิธี (Mixed Methods Research) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา 1) เพื่อวิเคราะห์องค์ประกอบการบริหารสถานศึกษาตามแนวคิดพหุวัฒนธรรมศึกษาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 2) เพื่อสร้างและนำเสนอรูปแบบการบริหารสถานศึกษาตามแนวคิดพหุวัฒนธรรมศึกษาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ การดำเนินงานวิจัยแบ่งเป็น 3 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่ 1 สังเคราะห์ตัวแปรการบริหารสถานศึกษาตามแนวคิดพหุวัฒนธรรมศึกษาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยการวิเคราะห์เอกสาร(Content Analysis) ได้จำนวน 123 ตัวแปร และนำตัวแปรไปคัดกรองตัวแปร โดยผู้เชี่ยวชาญจำนวน 5 คน นำข้อมูลมาปรับแก้จนได้ตัวแปรทั้งหมด 94 ตัวแปร นำตัวแปรดังกล่าวไปสร้างแบบสอบถามและดำเนินการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลในขั้นตอนต่อไป ขั้นตอนที่ 2 การวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงสำรวจ (Exploratory Factor Analysis) โดยใช้แบบสอบถามเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 512 คน ได้จำนวน 7 องค์ประกอบ 90 ตัวแปร ขั้นตอนที่ 3 การสร้างและนำเสนอรูปแบบการบริหารสถานศึกษาตามแนวคิดพหุวัฒนธรรมศึกษาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ นำร่างรูปแบบจากองค์ประกอบที่ได้ไปสนทนากลุ่ม (Focus Group Discussion) จากผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 9 ท่าน เพื่อยืนยันและเพิ่มเติมองค์ประกอบ หลังจากนั้นประเมินรูปแบบโดยการประชุมสัมมนาผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 11 ท่าน ได้จำนวน 7 องค์ประกอบ 17 ประเด็น 89 ตัวแปร
ผลการวิจัยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1. องค์ประกอบการบริหารสถานศึกษาตามแนวคิดพหุวัฒนธรรมศึกษาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย 7 องค์ประกอบ คือ 1) ความสัมพันธ์กับชุมชนและหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง 2) ภาวะผู้นำของผู้บริหารในบริบทพหุวัฒนธรรมศึกษา 3) การส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนในบริบทพหุวัฒนธรรม 4) คุณลักษณะของครูในบริบทพหุวัฒนธรรม 5) คุณลักษณะของผู้บริหารในบริบทพหุวัฒนธรรม 6) หลักสูตรที่สอดคล้องในบริบทพหุวัฒนธรรม 7) การสร้างเครือข่ายสถานศึกษาในบริบทพหุวัฒนธรรม
2. รูปแบบการบริหารสถานศึษาตามแนวคิดพหุวัฒนธรรมศึกษาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่า ผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นและยืนยันตามองค์ประกอบทั้ง 7 องค์ประกอบ 17 ประเด็น ดังนี้
องค์ประกอบที่ 1 ความสัมพันธ์กับชุมชนและหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องประกอบด้วย 3 ประเด็น คือ 1) ความสัมพันธ์ของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน 2) ความสัมพันธ์ของผู้ปกครอง ชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 3) สถานศึกษาเปิดโอกาสให้เกิดความสัมพันธ์ร่วมกัน
องค์ประกอบที่ 2 ภาวะผู้นำของผู้บริหารในบริบทพหุวัฒนธรรมศึกษาประกอบด้วย 3 ประเด็น คือ 1) ภาวะผู้นำในการเป็นผู้สร้างและให้โอกาส 2) ภาวะผู้นำในความมุ่งมั่นตั้งใจ และ 3) ภาวะผู้นำในบริหารงานตามการสถานการณ์
องค์ประกอบที่ 3 การส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนในบริบทพหุวัฒนธรรม ประกอบด้วย 2 ประเด็น คือ 1) สถานศึกษาผู้สนับสนุน และ 2) ครูผู้ส่งเสริมและพัฒนา
องค์ประกอบที่ 4 คุณลักษณะของครูในบริบทพหุวัฒนธรรม ประกอบด้วย 2 ประเด็น คือ 1) คุณลักษณะของครูด้านการเรียนการสอน และ 2) คุณลักษณะของครูในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
องค์ประกอบที่ 5 คุณลักษณะของผู้บริหารในบริบทพหุวัฒนธรรม ประกอบด้วย 3 ประเด็น คือ 1) ผู้บริหารนักสร้างวิสัยทัศน์ 2) ผู้บริหารนักแก้ปัญหา และ 3) ผู้บริหารผู้นำไปสู่เป้าหมาย
องค์ประกอบที่ 6 ด้านหลักสูตรที่สอดคล้องในบริบทพหุวัฒนธรรม ประกอบด้วย 2 ประเด็นย่อย คือ 1) กระบวนการพัฒนาหลักสูตร และ 2) การนำหลักสูตรไปใช้
องค์ประกอบที่ 7 การสร้างเครือข่ายสถานศึกษาในบริบทพหุวัฒนธรรม ประกอบด้วย 2 ประเด็นย่อย คือ 1) กระบวนการสร้างเครือข่าย และ 2) เครือข่ายโรงเรียนคู่พัฒนา
รูปแบบการบริหารสถานศึกษาตามแนวคิดพหุวัฒนธรรมศึกษาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้Model of School Administration based on Multicultural Education In the Three Southern Border Provinces is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.