คุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของโรงเรียนเทศบาล : กรณีศึกษาเทศบาลนครสงขลาและเทศบาลนครหาดใหญ่
The Educational Quality and Standards of the Municipal Schools : The Case Study of Songkhla and Hatyai Cities
: ชื่อผู้วิจัย ดร. ภัทร์กานต์ จันทร์มา
: ตำแหน่ง -
: วัดประเมินผลการศึกษา
: ปี 2558
: 365
บทคัดย่อ (Abstract)
วัตถุประสงค์ของการวิจัย เพื่ออธิบายว่ามีปัจจัยอะไรที่ส่งผลต่อคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของโรงเรียนเทศบาลและปัจจัยแต่ละตัวทำงานอย่างไร งานวิจัยนี้ได้เลือกโรงเรียนระดับประถมศึกษา สังกัดเทศบาลนครสงขลา จำนวน 3 โรง และสังกัดเทศบาลนครหาดใหญ่ จำนวน 3 โรง เป็นกรณีศึกษา ซึ่งมีผลการประเมินคุณภาพการศึกษาโดยสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) รอบที่สามแตกต่างกันในตัวบ่งชี้ที่ 1-5 (ตัวบ่งชี้พื้นฐาน) ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ถึงคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาสะท้อนให้เห็นในตัวนักเรียนทั้งในด้านคุณลักษณะที่พึงประสงค์ (ตัวบ่งชี้ที่ 1-4) และในด้านวิชาการ (ตัวบ่งชี้ที่ 5) การวิจัยนี้ใช้การออกแบบการวิจัยการเปรียบเทียบกรณีศึกษาหลายกรณี เพื่อต้องการหาปัจจัยและการทำงานของปัจจัยแต่ละตัวที่ส่งผลต่อคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา (ตามตัวบ่งชี้ในกลุ่มตัวบ่งชี้พื้นฐาน) ของโรงเรียน แหล่งข้อมูลของการวิจัยคือ เอกสารทางราชการ เช่น ผลการสอบโอเน็ต รายงานการประเมินตัวเองของโรงเรียน รายงานผลการประเมินคุณภาพภายนอกของ สมศ. และรายงานการประชุมต่างๆ ของโรงเรียนแต่ละโรง นอกจากนี้แหล่งข้อมูลหลักที่เป็นบุคคลซึ่งเกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาของโรงเรียนที่เป็นกรณีศึกษา สำหรับวิธีการเก็บและรวบรวมข้อมูลได้ใช้หลายวิธี ได้แก่ การอ่านจากเอกสาร การสัมภาษณ์แบบรายบุคคล การสัมภาษณ์เป็นกลุ่มและการสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วม การทดสอบความน่าเชื่อถือของข้อมูลได้ใช้วิธีตรวจสอบสามเส้าสำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลใช้วิธีการตีความหมายข้อมูล
ผลการวิจัยพบว่า
1. ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของโรงเรียน คือ การบริหารจัดการและบริบทภายในโรงเรียน ครูผู้สอน เด็กนักเรียน ครอบครัวของนักเรียน และชุมชน
2. การทำงานของปัจจัยที่ส่งผลต่อคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของโรงเรียน คือ ปัจจัยการบริหาร ได้แก่ ลักษณะความมุ่งมั่นของผู้อำนวยการ การทำงานเป็นทีม การบริหารแบบมีส่วนร่วม ปัจจัยครูผู้สอนได้แก่ ลักษณะการทำงานของครู การติดตามเอาใจใส่เรื่องการเรียนและการทำกิจกรรมการเรียนรู้ของนักเรียนอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง การพัฒนาระบบการเรียนการสอนที่ทันสมัย และการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ปกครอง ปัจจัยเด็กนักเรียนได้แก่ มีความรับผิดชอบสูง ขยัน ค้นคว้า ทำกิจกรรมการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ปัจจัยครอบครัวของนักเรียนได้แก่ การเอาใจใส่ ติดตามดูแล การให้ความรักและให้กำลังใจ ปัจจัยด้านชุมชน ได้แก่ การสนับสนุนกิจกรรมโรงเรียน การบริจาคทุนการศึกษา ให้สถานที่ออกกำลังกาย และศูนย์บริการสาธารณสุขเทศบาล
3. การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยหลักคือ การทำงานร่วมกันของแต่ละปัจจัย ประสานงานกัน การทำงานเป็นทีมระหว่างผู้บริหาร ครูผู้สอน นักเรียน ครอบครัว และชุมชนอย่างเข้มแข็ง
ผลของการวิจัยนี้สามารถใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายของสำนักงานเทศบาลและสถานศึกษาเพื่อส่งเสริมการเรียนการสอนและพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของโรงเรียนเพื่อประโยชน์ของสถาบันและสังคม
คุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของโรงเรียนเทศบาล : กรณีศึกษาเทศบาลนครสงขลาและเทศบาลนครหาดใหญ่The Educational Quality and Standards of the Municipal Schools : The Case Study of Songkhla and Hatyai Cities is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.