ปัจจัยพหุระดับที่มีอิทธิพลต่อคะแนนผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
The Multilevel Factors Affecting Mathayomsuksa Three Student’s Ordinary National Educational Test (O-NET) of Islamic Private Schools in Three Southern Border Provinces
: ชื่อผู้วิจัย ดร.สุไรยา หนิเร่
: ตำแหน่ง -
: วัดประเมินผลการศึกษา
: ปี 2558
: 414
บทคัดย่อ (Abstract)
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาปัจจัยพหุระดับที่มีอิทธิพลต่อคะแนนผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ของนักเรียน 2) สร้างสมการพยากรณ์พหุระดับในการทำนายคะแนนผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ของนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กลุ่มตัวอย่าง ประกอบด้วย ผู้บริหาร ครูและนักเรียน จำนวน 1,047 คน ในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ที่เปิดสอนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 สังกัดสำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ปีการศึกษา 2555 จำนวน 30 แห่ง โดยใช้วิธีการสุ่มกลุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multi-Stage Random Sampling) ตัวแปรการวิจัย ประกอบด้วย ตัวแปรปัจจัยระดับนักเรียน จำนวน 3 ตัวแปร ได้แก่ เจตคติต่อการเรียน นิสัยในการเรียนและแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ทางการเรียน ตัวแปรปัจจัยระดับห้องเรียน จำนวน 3 ตัวแปร ได้แก่ คุณภาพการสอนของครู บรรยากาศในชั้นเรียนและสัมพันธภาพระหว่างครูกับนักเรียน และตัวแปรปัจจัยระดับโรงเรียน จำนวน 3 ตัวแปร ได้แก่ ภาวะผู้นำทางวิชาการของผู้บริหาร สภาพแวดล้อมทางวิชาการของโรงเรียนและความพร้อมในการใช้เทคโนโลยีการเรียนการสอน เครื่องมือการวิจัย คือแบบสอบถาม มี 3 ฉบับ ได้แก่ 1) แบบสอบถามสำหรับนักเรียน 2) แบบสอบถามสำหรับครู และ 3) แบบสอบถามสำหรับผู้บริหาร มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.880, 0.949 และ 0.981 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติพื้นฐานการวิเคราะห์สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป การวิเคราะห์ข้อมูลใช้การวิเคราะห์พหุระดับ (Multilevel Analysis) ด้วยเทคนิคโมเดลเชิงเส้นตรงระดับลดหลั่นโดยใช้โปรแกรม HLM
ผลการวิจัย พบว่า
1. ปัจจัยระดับนักเรียนที่มีอิทธิพลต่อคะแนนผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และ .001 ตามลำดับ คือ เจตคติต่อการเรียน นิสัยในการเรียนและแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ทางการเรียน โดยที่ตัวแปรปัจจัยระดับนักเรียนสามารถร่วมกันอธิบายความแปรปรวนของคะแนนผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ของนักเรียนได้ร้อยละ 14.23
2. ปัจจัยระดับห้องเรียนที่มีอิทธิพลต่อค่าเฉลี่ยคะแนนผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 คือ คุณภาพการสอนของครู ส่วนตัวแปรบรรยากาศในชั้นเรียนและสัมพันธภาพระหว่างครูกับนักเรียน ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติและไม่มีอิทธิพลต่อค่าเฉลี่ยคะแนนผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ของนักเรียนโดยที่ตัวแปรปัจจัยระดับห้องเรียนสามารถร่วมกันอธิบายความแปรปรวนของคะแนนผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ของนักเรียน ได้ร้อยละ 53.73
3. ปัจจัยระดับโรงเรียน พบว่า ภาวะผู้นำทางวิชาการของผู้บริหาร สภาพแวดล้อมทางวิชาการของโรงเรียนและความพร้อมในการใช้เทคโนโลยีการเรียนการสอน ไม่มีอิทธิพลต่อค่าเฉลี่ยคะแนนผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยที่ตัวแปรปัจจัยระดับโรงเรียนสามารถร่วมกันอธิบายความแปรปรวนของคะแนนผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ของนักเรียน ได้ร้อยละ 10.99
4. สมการพยากรณ์พหุระดับในการทำนายคะแนนผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีรูปแบบดังนี้
O-NET = 97.283 + 29.378**QUA_TEA + 7.054CLIM_CLA - 0.495RELA_TS
2.539*ATTITUDE + 25.001***STU_HAB + 4.386***ACH_MOTIV
ปัจจัยพหุระดับที่มีอิทธิพลต่อคะแนนผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้The Multilevel Factors Affecting Mathayomsuksa Three Student’s Ordinary National Educational Test (O-NET) of Islamic Private Schools in Three Southern Border Provinces is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.