อนาคตภาพการจัดการศึกษาด้านศิลปวัฒนธรรมของสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์
A Scenario for the Art and Culture Educational Management of Bunditpatanasilpa Institute

: ชื่อผู้วิจัย ดร.กัลยาณี ยังสังข์
: ตำแหน่ง -
: อื่นๆ
: ปี 2558
: 550

logo onec

บทคัดย่อ (Abstract)

การศึกษาอนาคตภาพการจัดการศึกษาด้านศิลปวัฒนธรรมของสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลกระทบของเหตุการณ์ และแนวโน้มที่เกิดขึ้นกับอนาคตการจัดการศึกษาด้านศิลปวัฒนธรรมตามพันธกิจของสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ 5 ด้าน 1) ด้านการผลิตบัณฑิต 2) ด้านการวิจัย 3) ด้านการให้บริการทางวิชาการแก่สังคม 4) ด้านการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม 5) บริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาล การวิจัยแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 เทคนิคการวิจัยแบบ EDFR (Ethnographic Delphi Futures Research) เป็นผลการศึกษาความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 18 คน เก็บรวบรวมข้อมูล จำนวน 3 รอบ คือ รอบที่ 1 เป็นการสัมภาษณ์ ด้วยเทคนิค EFR รอบที่ 2 เป็นแบบสอบถามแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ ใช้เทคนิคเดลฟาย (Delphi) รอบที่ 3 เป็นการสอบถามความคิดเห็นผู้เชี่ยวชาญด้วยเทคนิคเดลฟาย รอบที่ 2 เพื่อหาฉันทามติของผู้เชี่ยวชาญ โดยคัดเลือกเหตุการณ์ที่มีค่ามัธยฐานตั้งแต่ 3.5 ขึ้นไป ค่าพิสัยควอไทล์ไม่เกิน 1.5 ความแตกต่างระหว่างฐานนิยมกับมัธยฐานไม่เกิน 1.0 ระยะที่ 2 ศึกษาผลกระทบของเหตุการณ์ และแนวโน้มที่เกิดขึ้นกับอนาคตการจัดการศึกษาด้านศิลปวัฒนธรรมตามพันธกิจของสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ใช้เทคนิควงล้ออนาคต (Future Wheel) และการวิเคราะห์ผลกระทบไขว้ (Cross Impact Matrix) มีผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 3 คน เพื่อระบุค่าความน่าจะเป็นของการเกิดเหตุการณ์ตั้งต้น และปฏิสัมพันธ์ของเหตุการณ์ 2 เหตุการณ์ ระยะที่ 3 การเขียนอนาคตภาพการจัดการศึกษาด้านศิลปวัฒนธรรมของสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์

ผลการวิจัยพบว่า

1. ผลการศึกษาแนวโน้มอนาคตภาพการจัดการศึกษาด้านศิลปวัฒนธรรมของสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ตามความคิดเห็นของที่ผู้เชี่ยวชาญมีฉันทามติ จำนวน 84 เหตุการณ์ ทุกเหตุการณ์มีค่าความเป็นไปได้อยู่ในระดับมาก

2. ผลกระทบของเหตุการณ์ และแนวโน้มที่เกิดขึ้นกับอนาคตการจัดการศึกษาด้านศิลปวัฒนธรรมตามพันธกิจของสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ สรุปได้ดังนี้

2.1 ผลการสร้างวงล้ออนาคต (Future Wheel) สร้างวงล้ออนาคตโดยใช้พันธกิจของสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์เป็นแนวโน้มศูนย์กลาง ส่วนแนวโน้มเหตุการณ์สืบเนื่องสร้างจากแนวโน้มความเป็นไปได้ของการเกิดเหตุการณ์ในแต่ละพันธกิจ

2.2 ผลการวิเคราะห์ผลกระทบไขว้ (Cross Impact Matrix) พบว่ามีแนวโน้มของเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบกับอีกเหตุการณ์หนึ่ง จำนวน 126 คู่

3. ภาพอนาคตการจัดการศึกษาด้านศิลปวัฒนธรรมของสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ นำผลการศึกษาในขั้น EDFR และการวิเคราะห์ผลกระทบไขว้ มาสังเคราะห์เป็นอนาคตภาพการศึกษาด้านศิลปวัฒนธรรมของสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ตามพันธกิจมีจำนวน 5 ภาพ ดังนี้

3.1 ด้านการผลิตบัณฑิต มีการพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับปรัชญา วิสัยทัศน์และอัตลักษณ์ที่กำหนด หลักสูตรมีความหลากหลาย ทันสมัย มุ่งเน้นทั้งด้านวิชาการและทักษะปฏิบัติ

3.2 ด้านการวิจัย เป็นสถาบันแห่งการเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมมีการสร้างระบบกลไกเพื่อยกระดับงานวิจัย โดยผลิตผลงานวิจัย รวบรวม และสังเคราะห์องค์ความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรม

3.3 ด้านการให้บริการทางวิชาการแก่สังคม เป็นศูนย์กลางบริการทางวิชาการด้านศิลปวัฒนธรรมที่มีบทบาทในการอนุรักษ์ เผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น

3.4 ด้านการทำนุ บำรุงศิลปะและวัฒนธรรม มีแผนงาน โครงการ กิจกรรมในการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ทั้งใน เชิงรุกและเชิงรับ มุ่งเน้นการสร้างและรักษาอัตลักษณ์ของสถานศึกษา

3.5 ด้านบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาล ควรมีเอกภาพในการบริหารจัดการโดยปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารให้ชัดเจนเพื่อให้มีการกระจายอำนาจทุกระดับ

`

อนาคตภาพการจัดการศึกษาด้านศิลปวัฒนธรรมของสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์A Scenario for the Art and Culture Educational Management of Bunditpatanasilpa Institute is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.