รูปแบบการบริหารเชิงกลยุทธ์ของโรงเรียนมาตรฐานสากลที่มีประสิทธิผล สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
The Development of A Strategic Management Model for Effectiveness of World - Class Standard Schools under the Office of the Basic Education Commission
: ชื่อผู้วิจัย ดร.พรทิพย์ อุปถัมภ์
: ตำแหน่ง -
: อื่นๆ
: ปี 2561
: 1187
บทคัดย่อ (Abstract)
การวิจัยในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบการบริหารเชิงกลยุทธ์ของโรงเรียนมาตรฐานสากลที่มีประสิทธิผล สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ใช้วิธีวิจัยแบบผสมทั้งเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ แบ่งขั้นตอนในการวิจัยออกเป็น 3 ระยะ คือ การสร้างรูปแบบการบริหารเชิงกลยุทธ์ของโรงเรียนมาตรฐานสากลที่มีประสิทธิผล โดยการสังเคราะห์เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และการสัมภาษณ์เชิงลึก จากผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 6 คน การพัฒนารูปแบบการบริหารเชิงกลยุทธ์ของโรงเรียนมาตรฐานสากลที่มีประสิทธิผล โดยเก็บข้อมูลจากผู้อำนวยการสถานศึกษา รองผู้อำนวยการกลุ่มบริหารวิชาการ และรองผู้อำนวยการหรือการผู้รับผิดชอบโรงเรียนมาตรฐานสากลจากโรงเรียนมาตรฐานสากลรุ่นที่ 1 ที่ผ่านการประเมินระดับ OBECQA ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) จำนวน 54 โรงเรียน โรงเรียนละ 3 คน รวมทั้งสิ้น 156 คน และ การตรวจสอบและยืนยันรูปแบบการบริหารเชิงกลยุทธ์ของโรงเรียนมาตรฐานสากลที่มีประสิทธิผล โดยการสัมมนาอิงผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิ (Connoisseurship) วิเคราะห์ข้อมูลโดยการแจกแจงความถี่ของข้อมูล ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการสังเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัยพบว่า
1. รูปแบบการบริหารเชิงกลยุทธ์ของโรงเรียนมาตรฐานสากลที่มีประสิทธิผล สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มี 3 องค์ประกอบ ได้แก่ ปัจจัยที่เอื้อต่อการบริหารเชิงกลยุทธ์ของโรงเรียนมาตรฐานสากลที่มีประสิทธิผล 5 ด้าน ประกอบด้วย ภาวะผู้นำของผู้บริหาร การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย บรรยากาศขององค์กร การพัฒนาบุคลากร และทรัพยากรทางการบริหาร กระบวนการบริหารเชิงกลยุทธ์ มี 4 ขั้นตอน ประกอบด้วย การวิเคราะห์สภาพแวดล้อม การวางแผนกลยุทธ์ การนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติ และการประเมินกลยุทธ์ ประสิทธิผลของโรงเรียนมาตรฐานสากล มี 3 ด้าน ประกอบด้วย ผลสำเร็จของการบริหารจัดการด้วยระบบคุณภาพตามเกณฑ์ OBECOA ผลสำเร็จด้านคุณภาพของผู้เรียน คือ ผู้เรียนมีศักยภาพเป็นพลโลก 5 ด้าน ได้แก่ ความเป็นเลิศทางวิชาการ สื่อสารสองภาษา ล้ำหน้าทางความคิด ผลิตงานอย่างสร้างสรรค์ และร่วมกันรับผิดชอบต่อสังคมโลก ความพึงพอใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้แก่ ความพึงพอใจของนักเรียน ครู ผู้ปกครองและชุมชน
2. รูปแบบการบริหารเชิงกลยุทธ์ของโรงเรียนมาตรฐานสากลที่มีประสิทธิผล สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานที่พัฒนาขึ้น โดยภาพรวมมีความเหมาะสมในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายองค์ประกอบพบว่า มีความเหมาะสมในระดับมากที่สุดทั้ง 3 องค์ประกอบ เรียงลำดับค่าเฉลี่ยจากมากไปหาน้อยได้ดังนี้ ประสิทธิผลของโรงเรียนมาตรฐานสากล กระบวนการบริหารเชิงกลยุทธ์ และปัจจัยที่เอื้อต่อการบริหารเชิงกลยุทธ์ ตามลำดับ
3. ผลการตรวจสอบและยืนยันรูปแบบการบริหารเชิงกลยุทธ์ของโรงเรียนมาตรฐานสากลที่มีประสิทธิผล โดยการสัมมนาอิงผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 7 คน พบว่า มีความเหมาะสม มีความเป็นไปได้ มีความสอดคล้อง และมีความเป็นประโยชน์ทุกด้าน
รูปแบบการบริหารเชิงกลยุทธ์ของโรงเรียนมาตรฐานสากลที่มีประสิทธิผล สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานThe Development of A Strategic Management Model for Effectiveness of World - Class Standard Schools under the Office of the Basic Education Commission is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.