การพัฒนารูปแบบการบริหารสถานศึกษาเอกชนสู่ความเป็นเลิศ
A Development Model For Private Schools Administration To Excellence

: ชื่อผู้วิจัย ภาวินทร์ ณ พัทลุง
: ตำแหน่ง -
: อื่นๆ
: ปี 2560
: 987

logo onec

บทคัดย่อ (Abstract)

การวิจัยในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อพัฒนารูปแบบการบริหารสถานศึกษาเอกชนสู่ความเป็นเลิศ แบ่งขั้นตอนการวิจัยออกเป็น 4 ตอน คือ 1) ศึกษาสภาพปัจจุบัน เอกสาร แนวคิดทฤษฎีและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการบริหารสถานศึกษาเอกชนสู่ความเป็นเลิศ โดยแบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอนย่อย คือ 1) ศึกษา วิเคราะห์ สภาพปัจจุบัน ของการบริหารคุณภาพการศึกษาโดยศึกษาแนวคิดทฤษฎีการบริหารสู่ความเป็นเลิศ 2) ศึกษาสถานศึกษาเอกชนในภาคใต้ตอนบนที่เป็นเลิศทางการบริหาร โดยเลือกแบบเจาะจงตามเกณฑ์ที่กำหนด คือ (ก) เป็นสถานศึกษาเอกชนที่ได้รับการประเมินรอบ 3 ระดับ ดีมากทุกมาตรฐาน จากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา องค์การมหาชน (สมศ.) (ข) เป็นสถานศึกษายอดนิยมที่ได้รับการแนะนำจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (สช.) และ (ค) เป็นสถานศึกษาเอกชนที่มีผลการทดสอบและประเมินผลทางการศึกษาระดับชาติตามมาตรฐานการศึกษา (O-NET) จากสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ องค์กรมหาชน (สทศ.) สูงกว่าสถานศึกษาของรัฐบาล 2) วิเคราะห์องค์ประกอบของรูปแบบการบริหารสถานศึกษาเอกชนสู่ความเป็นเลิศ 3) พัฒนา (ร่าง) รูปแบบการบริหารสถานศึกษาเอกชนสู่ความเป็นเลิศ โดยการสัมภาษณ์เชิงลึกและการสนทนากลุ่ม (Focus Group Discussion) และ 4) ตรวจสอบ ยืนยันรูปแบบการบริหารสถานศึกษาเอกชนสู่ความเป็นเลิศ โดยการสัมมนาอิงผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิ (Connoisseurship) การวิเคราะห์ข้อมูลโดยการแจกแจงความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงแบนมาตรฐาน และการสังเคราะห์เนื้อหา

ผลการวิจัยพบว่า

1. สภาพปัจจุบันของการบริหารสถานศึกษาเอกชนสู่ความเป็นเลิศ โดยภาพรวมพบว่า มีองค์ความรู้อย่างหลากหลายทั้งด้านการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาและด้านการวางแผนเชิงกลยุทธ์ แต่เนื่องจากบริบทเฉพาะของแต่ละสถานศึกษา ทำให้มีการบูรณาการเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติจริงมีระดับการปฏิบัติค่อนข้างน้อย

2. ผลการวิเคราะห์องค์ประกอบของรูปแบบการบริหารสถานศึกษาเอกชนสู่ความเป็นเลิศ พบว่า ประกอบด้วย 5 องค์ประกอบ คือ องค์ประกอบที่ 1 การดำเนินงาน การปฏิบัติการ อย่างมืออาชีพ องค์ประกอบที่ 2 ความพยายาม/ความตระหนัก องค์ประกอบที่ 3 วิสัยทัศน์กว้างไกล องค์ประกอบที่ 4 การบูรณาการ และองค์ประกอบที่ 5 แนวนโยบายการจัดการศึกษาของชาติ

3. ผลการพัฒนารูปแบบการบริหารสถานศึกษาเอกชนสู่ความเป็นเลิศ ที่สามารถนำไปบูรณาการเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง (Feasibility for Implementation) ซึ่งผู้วิจัยเรียกว่า "PAWIN Model" มีส่วนประกอบที่สำคัญ 5 ส่วน คือ 1) มีการดำเนินงาน การปฏิบัติการอย่างมืออาชีพ (Professional) 2) มีความพยายาม/ความตระหนัก (Attempt & Awareness) 3) วิสัยทัศน์กว้างไกล(World Wide Vision) 4) มีการบูรณาการ (Integrated) และ 5) ตอบสนองต่อแนวนโยบายการจัดการศึกษาของชาติ (National Education)

4. ผลการตรวจสอบประสิทธิภาพ ยืนยันรูปแบบการบริหารสถานศึกษาเอกชนสู่ความเป็นเลิศ โดยการสัมมนา อิงผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิ พบว่า มีความเหมาะสม มีความเป็นไปได้ มีความสอดคล้อง และมีความเป็นประโยชน์ทุกด้าน

`

การพัฒนารูปแบบการบริหารสถานศึกษาเอกชนสู่ความเป็นเลิศA Development Model For Private Schools Administration To Excellence is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.