รูปแบบการบริหารจัดการเชิงกลยุทธ์สำหรับสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดในอนาคต
The Strategic Management Model for Provincial Office of The Non-formal and Informal Education in the Futures

: ชื่อผู้วิจัย วณิชชากร พงศ์ทัศนา
: ตำแหน่ง -
: อื่นๆ
: ปี 2560
: 416

logo onec

บทคัดย่อ (Abstract)

การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาความสำเร็จ ปัญหาและแนวทางการบริหารจัดการเชิงกลยุทธ์ของสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัด 2) พัฒนารูปแบบการบริหารจัดการเชิงกลยุทธ์สำหรับสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดในอนาคต และ 3) เพื่อตรวจสอบความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของรูปแบบการบริหารจัดการเชิงกลยุทธ์สำหรับสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดในอนาคต โดยแบ่งการศึกษาออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ศึกษาความสำเร็จ ปัญหาและแนวทางการบริหารจัดการเชิงกลยุทธ์ กลุ่มตัวอย่างคือผู้ปฏิบัติงานจริงในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงาน รองผู้อำนวยการสำนักงาน และหัวหน้ากลุ่มหรือผู้ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้ากลุ่ม 15 คน โดยใช้แบบสัมภาษณ์ ระยะที่ 2 พัฒนารูปแบบการบริหารจัดการเชิงกลยุทธ์สำหรับสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดในอนาคต โดยใช้เทคนิควิจัยเชิงอนาคตแบบ EDFR ซึ่งเลือกผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้และประสบการณ์ตามเกณฑ์ที่กำหนด 17 คน ระยะที่ 3 ตรวจสอบความเหมาะสมและเป็นไปได้ของรูปแบบที่พัฒนาขึ้น กลุ่มตัวอย่างคือผู้อำนวยการสำนักงาน รองผู้อำนวยการสำนักงาน และหัวหน้ากลุ่มหรือผู้ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้ากลุ่มจากทั่วประเทศ 120 คน โดยใช้แบบสอบถามออนไลน์ สถิติที่ใช้ ได้เเก่ ความถี่ ค่าเฉลี่ย ร้อยละ ค่ามัธยฐาน ค่าพิสัยระหว่างควอไทล์ และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน

ผลการวิจัยพบว่า

1. สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัด มีความสำเร็จจากการใช้การวิเคราะห์นโยบายจุดเน้นจากส่วนกลางและบทบาทหน้าที่ของสำนักงานเป็นแนวทางหลักในการบริหารจัดการเชิงกลยุทธ์ มีผลผลิตเป็นไปตามนโยบาย บรรลุเป้าหมาย ปัญหาหลักในการบริการจัดการเชิงกลยุทธ์ คือบุคลากรในระดับจังหวัดมีน้อย ทำให้การดำเนินงานไม่ประสบความสำเร็จในเชิงคุณภาพเท่าที่ควร อีกทั้งยังขาดเทคนิค ขั้นตอน/ความรู้ ความเข้าใจที่ชัดเจนในกระบวนการบริหารจัดการเชิงกลยุทธ์ ส่วนแนวทางการบริหารจัดการเชิงกลยุทธ์จะใช้ระบบของแผนเป็นหลัก ซึ่งต้องให้ผู้บริหารสำนักงานใช้แผนงาน/โครงการอย่างจริงจัง ประเมินความสำเร็จของโครงการอย่างต่อเนื่อง

2. รูปแบบการบริหารจัดการเชิงกลยุทธ์สำหรับสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดในอนาคต มี 5 ขั้นตอน ดังนี้ ขั้นตอนที่ 1 การกำหนดวิสัยทัศน์ ประกอบด้วย 1) ใช้เครื่องมือ วิธีการ/เทคนิคที่หลากหลายในการกำหนดวิสัยทัศน์ 2) บูรณาการการดำเนินงานกับต้นสังกัดหน่วยงานอื่นในพื้นที่ตามหลักการมีส่วนร่วม 3) ความพร้อมหน่วยงานเพื่อการกำหนดวิสัยทัศน์และทิศทางองค์กร 4) เน้นการดำเนินงานเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนอย่างแท้จริง ขั้นตอนที่ 2 การศึกษาสภาพแวดล้อมภายในและภายนอก ประกอบด้วย 1) ใช้เครื่องมือศึกษาที่เหมาะสมและตรงตามระเบียบวิธีการใช้เครื่องมือนั้น 2) ใช้หลักการมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย 3) เตรียมความพร้อมของหน่วยงานก่อนศึกษา ขั้นตอนที่ 3 การกำหนดกลยุทธ์ ประกอบด้วย 1) ใช้เครื่องมือ/วิธีการที่หลากหลายในการกำหนดกลยุทธ์ 2) ใช้การมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย 3) บูรณาการปัจจัยที่เกี่ยวข้องในมิติพื้นที่ช่วยกำหนดกลยุทธ์ 4) เตรียมความพร้อมของหน่วยงานก่อนกำหนดกลยุทธ์ ขั้นตอนที่ 4 การนำกลยุทธ์ไปสู่การปฏิบัติ ประกอบด้วย 1) ใช้เครื่องมือ/วิธีการ/เทคนิคที่หลากหลายเพื่อนำกลยุทธ์ไปสู่การปฏิบัติ 2) ใช้การมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย 3) เตรียมหน่วยงานให้พร้อมก่อนเริ่มดำเนินการตามกลยุทธ์ และขั้นตอนที่ 5 การควบคุมและประเมินกลยุทธ์ ประกอบด้วย 1) ใช้เครื่องมือวิธีการเทคนิคที่หลากหลายในการควบคุมและประเมินกลยุทธ์ 2) ใช้กระบวนการของแผนควบคุมและประเมินกลยุทธ์ 3) กำหนดระบบบริหารจัดการที่มีคุณภาพเพื่อควบคุมและประเมินกลยุทธ์ 4) ใช้การมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายมาควบคุมและประเมินกลยุทธ์

3. ผลการตรวจสอบความเหมาะสมและเป็นไปได้ของรูปแบบการบริหารจัดการเชิงกลยุทธ์ สำหรับสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดในอนาคต โดยรวมมีความเหมาะสมและเป็นไปได้อยู่ในระดับมาก (x̄ = 4.14)

`

รูปแบบการบริหารจัดการเชิงกลยุทธ์สำหรับสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดในอนาคตThe Strategic Management Model for Provincial Office of The Non-formal and Informal Education in the Futures is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.