การประเมินความต้องการจำเป็นในการพัฒนางานบริการแนะแนวในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จังหวัดเชียงใหม่
The Needs Assessment to Develop Guidance Services of Schools Under Office of The Basic Education Commission in Chiang Mai

: ชื่อผู้วิจัย ดร.มนตรี อินตา
: ตำแหน่ง -
: วัดประเมินผลการศึกษา
: ปี 2562
: 485

logo onec

บทคัดย่อ (Abstract)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาความต้องการจำเป็นในการพัฒนางานบริการแนะแนวในโรงเรียน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จังหวัดเชียงใหม่ 2) เพื่อเปรียบเทียบความต้องการจำเป็นในการพัฒนางานบริการแนะแนวในโรงเรียน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างสังกัดและขนาดโรงเรียนที่แตกต่างกัน 3) เพื่อจัดลำดับความต้องการจำเป็นในการพัฒนางานบริการแนะแนวในโรงเรียน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จังหวัดเชียงใหม่ 4) เพื่อศึกษาความคิดเห็นและเสนอแนะแนวทางในการพัฒนางานบริการแนะแนวในโรงเรียน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จังหวัดเชียงใหม่ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ ประกอบด้วย ผู้บริหาร ครูที่ปรึกษา และครูแนะแนว จำนวน 36 คน และนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษา จำนวน 654 คน ในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในจังหวัดเชียงใหม่ โดยใช้วิธีการสุ่มแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) แบบสอบถามประเมินความต้องการจำเป็นในการพัฒนางานบริการแนะแนว และ 2) แบบสัมภาษณ์แบบไม่มีโครงสร้าง สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบค่าที (t- test) ด้วยการเปรียบเทียบรายคู่ (Paired-Samples T-test) และการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One-way ANOVA) วิธี Modified Priority Needs Index (PNIModified) และการวิเคราะห์เนื้อหา

ผลการวิจัยพบว่า

1. ความต้องการจำเป็นในการพัฒนางานบริการแนะแนวในโรงเรียน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จังหวัดเชียงใหม่ โดยคะแนนเฉลี่ยของสภาพที่เป็นจริงของงานบริการแนะแนวในภาพรวมอยู่ในระดับสูง โดยบริการสนเทศมีคะแนนเฉลี่ยสูงสุด รองลงมาคือบริการรวบรวมข้อมูลเป็นรายบุคคล บริการจัดวางตัวบุคคล บริการติดตามและประเมินผล และบริการให้คำปรึกษา ตามลำดับ

2. โรงเรียนที่อยู่ในสังกัดที่แตกต่างกันระหว่างสังกัดสพป.และสพม. จะมีคะแนนเฉลี่ยการดำเนินงานแนะแนวแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยโรงเรียนสังกัดสพป. มีคะแนนเฉลี่ยการดำเนินงานแนะแนวทั้งภาพรวมและรายด้านอยู่ในระดับปานกลาง ส่วนโรงเรียนสังกัด สพม. มีคะแนนเฉลี่ยการดำเนินงานแนะแนวทั้งภาพรวมและรายด้านอยู่ในระดับสูง นอกจากนี้โรงเรียนที่มีขนาดแตกต่างกันระหว่างขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ และใหญ่พิเศษ จะมีคะแนนเฉลี่ยการดำเนินงานแนะแนวแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยโรงเรียนขนาดกลางและขนาดใหญ่พิเศษ มีคะแนนเฉลี่ยของการดำเนินงานบริการแนะแนวสูงกว่าโรงเรียนขนาดเล็กและขนาดใหญ่

3. ผู้บริหาร ครูแนะแนว ครูที่ปรึกษา และนักเรียน มีความต้องการจำเป็นในการพัฒนางานบริการแนะแนวในโรงเรียนทุกด้าน โดยมีค่า PNIModified อยู่ระหว่าง 0.17 -0.29 เมื่อจัดลำดับความสำคัญของความต้องการจำเป็นในการพัฒนางานบริการแนะแนวในโรงเรียนทั้ง 5 ด้าน พบว่า ความต้องการจำเป็นในการพัฒนางานบริการแนะแนวในโรงเรียน ลำดับที่ 1 คือ บริการจัดวางตัวบุคคล (PNIModified = 0.29) รองลงมาคือ บริการให้คำปรึกษา (PNIModified = 0.27) บริการติดตามและประเมินผล (PNIModified = 0.26) บริการรวบรวมข้อมูลเป็นรายบุคคล (PNIModified = 0.20) และบริการสนเทศ (PNIModified = 0.17) ตามลำดับ

4. ความคิดเห็นและเสนอแนะแนวทางในการพัฒนางานบริการแนะแนวในโรงเรียน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จังหวัดเชียงใหม่ สามารถสรุปได้ดังนี้

4.1 ผู้บริหาร เสนอว่า ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาควรเข้ามาช่วยสนับสนุนให้งานแนะแนวมีประสิทธิภาพ และช่วยเหลือให้นักเรียนได้รู้จักและทำความเข้าใจตนเองมากที่สุดทั้งในด้านการศึกษาต่อและการประกอบอาชีพในอนาคต ควรมีการจัดอบรมให้ความรู้แก่ครูที่ปฏิบัติหน้าที่แนะแนวทุกๆ ปี และมีครูแนะแนวในโรงเรียนสังกัด สพป. ทุกโรงเรียน

4.2 ครูแนะแนว เสนอว่า ผู้บริหารควรให้ความสำคัญต่องานแนะแนว มีบุคลากรด้านการแนะแนวอย่างเพียงพอกับจำนวนนักเรียนแต่ละโรงเรียน มีห้องแนะแนวเป็นเอกเทศ มีครูแนะแนวที่มีวุฒิทางการศึกษาแนะแนวโดยตรง และควรมีโปรแกรมหรือแอปพลิเคชั่นที่เก็บรวบรวมข้อมูลนักเรียนในรูปแบบระบบออนไลน์ เช่น ประวัตินักเรียน ระเบียนสะสม การให้บริการการศึกษาต่อ รวมถึงการให้คำปรึกษาทางออนไลน์

4.3 ครูที่ปรึกษา เสนอว่า ควรดำเนินการบริการแนะแนวให้เป็นระบบและครอบคลุมทุกงาน มีครูแนะแนวเพิ่มตามความต้องการและสอดคล้องกับจำนวนของนักเรียน ทุกโรงเรียนควรมีการพัฒนางานแนะแนวให้เป็นระบบ มีการจัดกิจกรรมแนะแนวอย่างต่อเนื่อง มีกล่องแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดบริการแนะแนว และการพัฒนางานแนะแนวในโรงเรียน ควรทำเป็นระบบทั้งโรงเรียน ผู้บริหาร ครู นักเรียน และบุคลากรทุกฝ่ายในโรงเรียนต้องร่วมมือกัน

4.4 นักเรียน เสนอว่า โรงเรียนควรมีห้องรับฟังปัญหาและให้คำปรึกษา กล่องแสดงความคิดเห็น มีการจัดหาแหล่งงานที่นักเรียนสามารถทำงานพิเศษหรือหารายได้พิเศษระหว่างเรียน มีการจัดการเรียนรู้นอกห้องเรียนและการจัดกิจกรรมทัศนศึกษานอกสถานที่ สนับสนุนทุนการศึกษาสำหรับนักเรียนที่ยากไร้ มีการจัดกิจกรรมแนะแนวที่หลากหลายและน่าสนใจ มีค่ายแนะแนวการศึกษาต่างๆ และเชิญวิทยากรที่มีประสบการณ์จริงหรือพี่ๆ ในสาขาอาชีพต่างๆ มาแนะแนวทางในการเรียนต่อในสาขาอาชีพนั้นๆ และมีการจัดเรียนเพิ่มเติมให้แก่นักเรียนหลังเลิกเรียน

`

การประเมินความต้องการจำเป็นในการพัฒนางานบริการแนะแนวในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จังหวัดเชียงใหม่The Needs Assessment to Develop Guidance Services of Schools Under Office of The Basic Education Commission in Chiang Mai is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.