พฤติกรรมทางจริยธรรมด้านเบญจธรรมของนักศึกษาคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
The Five Ennobling Virtues Ethical Behaviors of Students in Faculty of Education Chiang Mai Rajabhat University
: ชื่อผู้วิจัย ดร.มนตรี อินตา
: ตำแหน่ง -
: อุดมศึกษา
: ปี 2556
: 291
บทคัดย่อ (Abstract)
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระดับและเปรียบเทียบพฤติกรรมทางจริยธรรมด้านเบญจธรรมของนักศึกษาคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ซึ่งประชากรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ เป็นนักศึกษาภาคปกติ ชั้นปีที่ 1-4 คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ที่กำลังศึกษาภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2555 จำนวน 5,307 คน และกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษา จำนวน 357 คน โดยสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งชั้น (Stratified Random Sampling) ด้วยการสุ่มเป็นระดับชั้นอย่างเป็นสัดส่วนตามระดับชั้นปีและสาขาวิชาของคณะครุศาสตร์ เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลครั้งนี้เป็นแบบสอบถาม จำนวน 50 ข้อ และนำข้อมูลมาวิเคราะห์ทางสถิติ โดยหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบค่า (t-test) และวิเคราะห์ข้อมูลแปรปรวนทางเดียว (One way ANOVA) ผลการวิจัยพบว่า
1. ระดับพฤติกรรมทางจริยธรรมด้านเบญจธรรมของนักศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ อยู่ในระดับมาก (x̅ = 3.90) เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า นักศึกษามีพฤติกรรมทางจริยธรรมด้านเบญจธรรม อยู่ในระดับมาก (x̅ = 3.57-4.04) ได้แก่ ด้านเมตตากรุณา ด้านสัมมาอาชีวะ ด้านสัจจะ ด้านสติสัมปชัญญะ และด้านกามสังวร โดยด้านกามสังวรมีค่าเฉลี่ยสูงสุด (x̅ = 4.04)
2. ผลการวิเคราะห์เปรียบเทียบพฤติกรรมทางจริยธรรมด้านเบญจธรรมของนักศึกษาตามตัวแปรเพศ อายุ ระดับชั้นปี ผลการเรียน สถานภาพครอบครัว และอาชีพของผู้ปกครอง พบว่า
2.1 นักศึกษาที่มีเพศต่างกัน มีพฤติกรรมทางจริยธรรมด้านเบญจธรรมแตกต่างกัน โดยภาพรวมและรายด้านพบว่าด้านกามสังวร แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.001 ส่วนด้านสัมมาอาชีวะและด้านสัจจะ แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 โดยนักศึกษาเพศหญิงมีพฤติกรรมทางจริยธรรมสูงกว่าเพศชาย
2.2 นักศึกษาที่มีอายุต่างกัน มีพฤติกรรมทางจริยธรรมด้านเบญจธรรมแตกต่างกัน โดยภาพรวมแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ส่วนด้านกามสังวรแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.001 โดยพบว่า นักศึกษาที่มีอายุ 20 และ 22 ปี จะมีพฤติกรรมทางจริยธรรมสูงกว่านักศึกษาอายุ 18 และ 23 ปี อย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ 0.001
2.3 นักศึกษาที่มีระดับชั้นปีต่างกัน มีพฤติกรรมทางจริยธรรมด้านเบญจธรรมไม่แตกต่างกันเมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่าด้านกามสังวร แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 โดยนักศึกษาชั้นปีที่ 2, 3 และ 4 มีพฤติกรรมทางจริยธรรมที่สูงกว่านักศึกษาชั้นปีที่ 1
2.4 นักศึกษาที่มีผลการเรียนต่างกัน มีพฤติกรรมทางจริยธรรมด้านเบญจธรรมแตกต่างกันโดยภาพรวมและรายด้านพบว่า ด้านกามสังวร ด้านสัจจะ ด้านสติสัมปชัญญะ แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 โดยนักศึกษาที่มีผลการเรียนที่สูงกว่า มีพฤติกรรมทางจริยธรรมสูงกว่านักเรียนที่มีผลการเรียนที่ต่ำกว่า
2.5 นักศึกษาที่มีสภาพครอบครัวต่างกัน มีพฤติกรรมทางจริยธรรมไม่แตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05
2.6 นักศึกษาที่มีอาชีพผู้ปกครองต่างกัน มีพฤติกรรมทางจริยธรรมไม่แตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า ด้านกามสังวร แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.001 โดยนักศึกษาที่ผู้ปกครองมีอาชีพรับจ้างมีพฤติกรรมทางจริยธรรมสูงกว่านักศึกษาที่ผู้ปกครองมีอาชีพเกษตรกรและค้าขาย
3. ข้อเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหาและในการพัฒนาพฤติกรรมทางจริยธรรมด้านเบญจธรรมของนักศึกษาคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ พบว่า ควรมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม เช่น การเข้าค่ายคุณธรรม การอบรมด้านเบญจธรรม มีการจัดกิจกรรมยกย่องชมเชย หรือเสริมแรงให้กับนักศึกษาที่ประพฤติตนเหมาะสมกับความเป็นครู ปลูกฝังค่านิยมที่ดีงามทั้งในเรื่องการรักนวลสงวนตัว การให้เกียรติแก่เพศตรงข้าม และอาจารย์ผู้สอนควรสอดแทรกคุณธรรมจริยธรรมในการเรียนการสอนทุกวิชา
พฤติกรรมทางจริยธรรมด้านเบญจธรรมของนักศึกษาคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่The Five Ennobling Virtues Ethical Behaviors of Students in Faculty of Education Chiang Mai Rajabhat University is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.