ผลการใช้กิจกรรมสื่อประสมที่มีต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในรายวิชาการศึกษาแบบเรียนรวม (SPE 3601) ของนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
The Effects of Using Multimedia Activities on Undergraduate Students’ Learning Achievement in Inclusive Education (SPE 3601), Chiang Mai Rajabhat University.

: ชื่อผู้วิจัย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธีรธร เลอศิลป์
: ตำแหน่ง -
: วัดประเมินผลการศึกษา
: ปี 2554
: 381

logo onec

บทคัดย่อ (Abstract)

วัตถุประสงค์ของการวิจัยเชิงปฏิบัติการในชั้นเรียน คือ เพื่อศึกษาผลการใช้กิจกรรมสื่อประสมที่มีต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรายวิชาการศึกษาแบบเรียนรวม และเพื่อศึกษาความคิดเห็นของนักศึกษาต่อการใช้กิจกรรมสื่อประสมที่มีต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรายวิชาการศึกษาแบบเรียนรวม กลุ่มเป้าหมายที่ศึกษา ได้แก่ นักศึกษาระดับปริญญาตรีที่ลงทะเบียนเรียนรายวิชาการศึกษาแบบเรียนรวม (SPE 3601) คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2553 เครื่องมือการรวบรวมข้อมูลที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ การรวบรวมแบบฝึกหัด งานที่ได้รับมอบหมายจากกิจกรรมเดี่ยว คู่ หรือกลุ่ม แบบสอบถาม ข้อสอบ และการบันทึกผลการปฏิบัติงานระหว่างการเรียนการสอน ส่วนการวิเคราะห์ข้อมูลใช้การนับความถี่ คำนวณค่าร้อยละและการวิเคราะห์เนื้อหา

ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้

1. คะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักศึกษาในรายวิชาการศึกษาแบบเรียนรวม (SPE 3601) มีคะแนนสูงสุดร้อยละ 93 ต่ำสุดร้อยละ 48 และค่าเฉลี่ยร้อยละ 78 ส่วนคะแนนระดับผลการเรียนของนักศึกษาในรายวิชาการศึกษาแบบเรียนรวม พบว่านักศึกษาส่วนใหญ่เกินกว่าครึ่งของจำนวนนักศึกษาทั้งหมดถึงจำนวนร้อยละ 52.2 ได้ระดับผลการเรียน A รองลงมาร้อยละ 16.4 และ 13.4 ได้ระดับผลการเรียน B+ และ B ตามลำดับ โดยมีนักศึกษาจำนวนร้อยละ 6 ได้ระดับผลการเรียน F อย่างไรก็ตามผลการปฏิบัติงานระหว่างเรียนของนักศึกษาพบว่า นักศึกษาส่วนใหญ่ร้อยละ 28.4 ได้ปฏิบัติงานเข้าชั้นเรียนเกือบครบ มีจำนวนร้อยละ 25.4 เข้าชั้นเรียนครบทุกครั้ง สำหรับการส่งงานพบว่านักศึกษาส่วนใหญ่ร้อยละ 53.7 และรองลงมา 28.4 ได้ปฏิบัติส่งงานครบทุกครั้งและเกือบครบ ตามลำดับ ปัจจัยที่มีผลต่อคะแนนต่ำของนักศึกษาจำนวนหนึ่ง คือ การขาดเรียนบ่อย ไม่ส่งงาน และการขาดความรับผิดชอบในการติดตามงาน เมื่อขาดเรียนของนักศึกษา

2. กิจกรรมการเรียนการสอนด้วยการใช้สื่อประสมที่ได้ปฏิบัติจริงตามความคิดเห็นของนักศึกษา วิธีที่ดีที่สุดคือ กิจกรรมคู่สลับกับกลุ่ม

3. นักศึกษาส่วนใหญ่ (ร้อยละ 50.6) ทำแบบฝึกหัด ใบงานด้วยตนเอง โดยศึกษาจากตำรา มีจำนวนร้อยละ 3.6 ทำเองไม่ได้ ปรึกษาเพื่อนหรือลอกจากเพื่อน

4. กิจกรรมการเรียนการสอน 3 อันดับแรกที่นักศึกษาส่วนใหญ่ชอบมากที่สุดคือ อันดับที่ 1 การชมวีดีทัศน์ รองลงมาคือ การทำแบบฝึกหัดและใบงาน และกิจกรรมเกมการศึกษา ตามลำดับ ส่วนการเขียนสรุปบทเป็นกิจกรรมการเรียนที่นักศึกษาส่วนใหญ่ชอบน้อยที่สุด

5. ความคิดเห็นของนักศึกษาต่อการทำกิจกรรมแบบเดี่ยว แบบคู่ และแบบกลุ่ม พบว่านักศึกษาให้ความคิดเห็นที่เป็นข้อมูลเชิงสนับสนุนการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในลักษณะสื่อประสมที่ได้จัดขึ้นตลอดปีการศึกษาที่ผ่านว่าเกิดประโยชน์ ทั้งในส่วนของการพัฒนาตนเองและพัฒนาการทำงานเป็นทีม อย่างไรก็ตามพบว่ามีข้อมูลเชิงไม่สนับสนุนอยู่บางส่วน ซึ่งให้ข้อมูลในลักษณะของข้อเสนอแนะเกี่ยวกับปริมาณงานที่มากเกินไปภายในเวลาที่จำกัด รวมทั้งปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละลักษณะของกิจกรรม

6. นักศึกษาแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า การใช้สื่อช่วยในการสอนทำให้เรียนได้เข้าใจมากขึ้น เพราะเป็นการสอนแบบหลากหลาย ทำให้ได้รับความรู้ในหลากหลายด้านทั้งทางตรงและทางอ้อม อย่างไรก็ตามพบว่านักศึกษาบางส่วนให้ความคิดเห็นว่า อุปสรรคหลักของการใช้สื่อ มีสาเหตุมาจากคุณภาพของอุปกรณ์การเรียนการสอน

7. นักศึกษาให้ข้อมูลว่าการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยผู้สอนที่มีความบกพร่องทางการได้ยินไม่ได้มีอุปสรรคต่อการเรียนรู้ของนักศึกษาแต่อย่างใด แม้ว่าบางครั้งอาจจะมีความยากลำบากในการสื่อสาร แต่ก็เป็นปัญหาเพียงเล็กน้อย รวมทั้งได้เห็นถึงความพยายามและความทุ่มเทของผู้สอน ซึ่งช่วยให้เห็นและเข้าใจผู้ที่มีความบกพร่องประเภทนี้มากขึ้น และทำให้เห็นเป็นตัวอย่างของการเป็นครูได้เป็นอย่างดี

8. นักศึกษาเสนอความคิดเห็นว่า การจัดกิจกรรมในการเรียนการสอนในภาพรวมถือว่าดี เพราะมีการเรียนรู้ที่หลากหลาย มีกิจกรรมช่วยกระตุ้นให้เรียนรู้ตลอดเวลา จึงทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ และเกิดความสนุกสนานไปกับการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนของอาจารย์ รวมทั้งทำให้ได้ทำงานร่วมกับเพื่อน และได้ลงมือปฏิบัติทำสื่อด้วยตนเอง

`

ผลการใช้กิจกรรมสื่อประสมที่มีต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในรายวิชาการศึกษาแบบเรียนรวม (SPE 3601) ของนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่The Effects of Using Multimedia Activities on Undergraduate Students’ Learning Achievement in Inclusive Education (SPE 3601), Chiang Mai Rajabhat University. is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.