การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการสื่อสารและการเรียนรู้ ของนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยินในโรงเรียนโสตศึกษา
Using Information Technology for Communicating with and Learning of Students who have Hearing Disability at Schools for the Deaf in Thailand
: ชื่อผู้วิจัย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธีรธร เลอศิลป์
: ตำแหน่ง -
: เทคโนโลยีการศึกษา
: ปี 2561
: 1929
บทคัดย่อ (Abstract)
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการใช้และความคิดเห็นในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการสื่อสารและการเรียนรู้ของนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยินทางการศึกษาในกลุ่มตัวอย่างนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยินที่กำลังศึกษาระดับ มัธยมศึกษาปีที่ 1 – ปีที่ 6 ในโรงเรียนโสตศึกษา จำนวน 5 แห่ง โดยการสุ่มตัวอย่างอย่างง่าย จากกลุ่มนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยินที่มีระดับการสูญเสียการได้ยินตั้งแต่ระดับ 70 เดซิเบลขึ้นไป จำนวน 192 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสอบถามการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศของนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยินที่ผู้วิจัยได้พัฒนาขึ้น เก็บรวบรวมข้อมูล โดยนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยินเลือกตอบจากแบบสอบถามด้วยตนเอง และมีล่ามภาษามือเป็นสื่อกลางในการสื่อสารระหว่างผู้วิจัย/ครูประจำชั้นกับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ผลการศึกษาด้านการรู้จักเทคโนโลยีสารสนเทศ พบว่ารู้จักแอปพลิเคชันการสนทนาผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ เช่น ไลน์ เฟซบุ๊ก และข้อความหลังเฟซบุ๊ก มากที่สุด รองลงมา คือ แอปพลิเคชันการสนทนาแบบเห็นหน้าต่อหน้า ตามลำดับ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเจ้าของโทรศัพท์มือถือ/สมาร์ตโฟน และรองลงมาคือ โน้ตบุ๊ก ตามลำดับ ในขณะเดียวกันกลุ่มนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยินมีแอปพลิเคชั่น เฟซบุ๊ก และไลน์ ตามลำดับ เมื่อพิจารณาถึงการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต พบว่านักเรียนใช้โทรศัพท์มือถือ/สมาร์ตโฟนเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตมากที่สุด นอกจากนี้ผลการศึกษาจากปัญหาอินเตอร์เน็ตพบว่าอินเทอร์เน็ตความเร็วช้า สำหรับผลการศึกษาด้านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ พบว่ากลุ่มตัวอย่างติดต่อกับผู้ที่มีการได้ยินปกติด้วยวิธีการพิมพ์ส่งข้อความทางเฟซบุ๊ก ไลน์ และการโทรศัพท์โดยการขอความช่วยเหลือจากคนที่มีการได้ยินปกติ ตามลำดับ ส่วนการติดต่อกับคนหูหนวกและคนหูตึงพบว่า นักเรียนจำนวนมากใช้การส่งข้อความทางไลน์ และแอปพลิเคชันการสนทนาแบบเห็นหน้าตามลำดับในทางกลับกันกลุ่มตัวอย่างมีการใช้ศูนย์บริการถ่ายทอดการสื่อสารแห่งประเทศไทย (TTRS) หรือแอปพลิเคชัน TTRS น้อยลง สำหรับเหตุผลในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ พบว่านักเรียนตอบว่าเพื่อนแนะนำให้ใช้เพื่อการสื่อสารติดต่อกัน และเทคโนโลยีสารสนเทศจำเป็นต้องใช้ในการเรียนการสอนในชั้นเรียน ตามลำดับ ส่วนสถานที่ที่กลุ่มตัวอย่างมักใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศ คือที่โรงเรียน โดยนักเรียนส่วนใหญ่ใช้เป็นประจำ/ทุกวัน ใช้มานานมากกว่า 4 ปี โดยมีวัตถุประสงค์ของการใช้ เพื่อติดต่อพูดคุยทั่วไป และเพื่อความสะดวกในการติดต่อกับบุคคลอื่นๆ ตามลำดับ ผลการศึกษาในด้านความคิดเห็นเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศของนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน พบว่าส่วนใหญ่มีความคิดเห็นด้านพึงพอใจต่อผลของการใช้ในระดับทั้งมากและปานกลาง โดยนักเรียนส่วนใหญ่เห็นด้วยในระดับมากว่าเทคโนโลยี สารสนเทศมีส่วนที่ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ รวมถึงการสนทนากับเครือญาติ และเพื่อนฝูง บนเครือข่ายสังคมออนไลน์ด้วยอุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศ
การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการสื่อสารและการเรียนรู้ ของนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยินในโรงเรียนโสตศึกษาUsing Information Technology for Communicating with and Learning of Students who have Hearing Disability at Schools for the Deaf in Thailand is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.