ยุทธวิธีพัฒนาครูยุคใหม่สู่ครูมืออาชีพภายใต้บริบทของสถานศึกษาโดยใช้ฐานข้อมูลสารสนเทศเครือข่ายเพื่อพัฒนาการเรียนรู้
: ชื่อผู้วิจัย รองศาสตราจารย์ ดร.วีระศักดิ์ ชมภูคำ
: ตำแหน่ง -
: ครูและบุคลากรทางการศึกษา
: ปี 2558
: 396
บทคัดย่อ (Abstract)
การวิจัยเรื่อง ยุทธวิธีพัฒนาครูยุคใหม่สู่ครูมืออาชีพภายใต้บริบทของสถานศึกษา โดยใช้ฐานข้อมูลสารสนเทศเครือข่ายเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ มีวัตถุประสงค์การวิจัย 1) เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการพัฒนาตนเองสู่ครูมืออาชีพ ของนักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู และครูพี่เลี้ยง 2) เพื่อศึกษาสภาพปัญหา ความต้องการในการรับการนิเทศของนักศึกษาครู 3) เพื่อศึกษาสภาพความต้องการพัฒนาตนเองสู่ครูมืออาชีพ ของนักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูและครูพี่เลี้ยง 4) เพื่อสร้างและพัฒนาฐานข้อมูลสารสนเทศเครือข่ายเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ โดยระบบออนไลน์ และศึกษาความพึงพอใจของผู้ใช้ฐานข้อมูลสารสนเทศฯ 5) เพื่อศึกษาสมรรถนะความเป็นครู ของนักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู และครูพี่เลี้ยงจากการเข้าร่วมโครงการ กลุ่มตัวอย่าง นักศึกษา ครู ปีการศึกษา 2556 นักศึกษาระหว่างฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู ปีการศึกษา 2555-2556 ครูพี่เลี้ยง ผู้บริหารโรงเรียนที่เป็นเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เครื่องมือในการวิจัย ได้แก่ แบบสอบถาม ฐานข้อมูลสารสนเทศอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบออนไลน์ คู่มือพัฒนาการสร้างและจัดการฐานข้อมูลสารสนเทศอิเล็กทรอนิกส์ แบบสอบถามความพึงพอใจและแบบประเมินสมรรถนะความเป็นครู การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ สถิติที่ใช้ ได้แก่ สถิติพรรณนา วิเคราะห์โดยใช้ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติอนุมานใช้การทดสอบค่าเฉลี่ย ได้แก่ Z–test แบบ Two Sample for Means t–test แบบ Paired Two Sample for Means และt–test แบบสองกลุ่มประชากร เมื่อตัวอย่างจากประชากรเป็นอิสระกัน (Independent Samples) การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ ใช้ การวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) ผลการวิจัย พบว่า
1. ปัจจัยที่มีผลต่อการพัฒนาตนเองสู่ครูมืออาชีพ พบว่าโดยภาพรวมปัจจัยส่วนบุคคลมีผลต่อการพัฒนาตนเองสู่ครูมืออาชีพอยู่ในระดับปานกลาง เมื่อพิจารณาเป็นรายตัวบ่งชี้ พบว่า อายุการทำงานและสุขภาพทั้งทางกายและจิตใจ มีผลอยู่ในระดับมาก นักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู ให้ตัวบ่งชี้เรื่องเพศมีผลต่อการพัฒนาตนเองอยู่ในระดับปานกลาง แต่ครูพี่เลี้ยงมีผลในระดับน้อย ปัจจัยด้านความรู้ในวิชาชีพโดยภาพรวมมีผลอยู่ระดับมาก ตัวบ่งชี้เรื่องสถาบันการศึกษาที่จบมีผลอยู่ระดับปานกลาง คะแนนเฉลี่ยของการประเมินปัจจัยต่อการพัฒนาตนเองสู่ครูมืออาชีพของนักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู และครูพี่เลี้ยงแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 เกือบทุกตัวบ่งชี้ ยกเว้นตัวบ่งชี้เรื่องวุฒิการศึกษาตรงสาขาที่สอน คะแนนเฉลี่ยของการประเมินแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญ สำหรับปัจจัยด้านบุคลิกภาพ ปัจจัยด้านการปฏิบัติงาน และปัจจัยด้านสังคมมีผลอยู่ในระดับมากทุกตัวบ่งชี้
2. ความต้องการรับการนิเทศจากอาจารย์มานิเทศ เฉลี่ยประมาณ 2 ครั้ง มีการประชุมเฉลี่ยประมาณ 2 ครั้ง และให้พัฒนาความรู้เฉลี่ย 2 ครั้ง ต้องการได้รับการนิเทศจากผู้บริหาร ครูพี่เลี้ยง อาจารย์นิเทศ อาจารย์ที่ตรงสาขาวิชา ในระดับมาก แต่ถ้าเป็นอาจารย์สาขาใด ๆ หรือ อาจารย์จากหน่วยงานอื่น หรือไปนิเทศแบบเยี่ยมเยือนเท่านั้น ไม่สามารถนิเทศตามเนื้อหาวิชา อยู่ระดับปานกลาง และให้จัดการเรียนรู้ตามแนวคิดของครูพี่เลี้ยง หรือ อาจารย์นิเทศก์ เท่านั้นอยู่ในระดับปานกลาง ต้องการรับการนิเทศเพื่อการพัฒนาตนเองในด้านความรู้ ทักษะ คุณลักษณะการเป็นครู โดยเฉพาะเรื่อง เทคนิค/วิธีการสอน/ทักษะการสอน การจัดการเรียนรู้ แผนการจัดการเรียนรู้/การสอน และสื่อการสอน และด้านปัจจัยสนับสนุนอยู่ในระดับมาก
3. ความต้องการพัฒนาตนเองสู่ครูมืออาชีพ พบว่า นักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู ต้องการได้รับการพัฒนาร้อยละ 98.6 เรื่องที่ต้องการมากตามลำดับได้แก่ เทคนิคการสอน การสร้างสื่อนวัตกรรม และวิจัยในชั้นเรียนตามลำดับ ต้องการให้พัฒนาในช่วงวันปกติ ร้อยละ 39.7 สำหรับครูพี่เลี้ยงต้องการได้รับการพัฒนาร้อยละ 93.7 เรื่องที่ต้องการ ได้แก่ เทคนิคการสอน การสร้างสื่อนวัตกรรม และกระบวนการคิดตามลำดับ ต้องการให้พัฒนาในช่วงปิดภาคเรียนร้อยละ 48.3 ต้องการพัฒนาในช่วง 2-3 วัน ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลครูไม่สามารถจัดการเรียนรู้แก่ผู้เรียนอย่างเต็มความสามารถ เรียงตามลำดับได้แก่ มีภาระงานอื่น/พิเศษมาก โรงเรียนมีกิจกรรมเสริมมาก สมรรถนะของผู้เรียนแตกต่างกันมาก ครูสอนไม่ตรงวุฒิ นโยบายผู้บริหาร/งบประมาณ และขาดเทคนิคการสอนที่ดี
4. ฐานข้อมูลสารสนเทศที่จำเป็นของการพัฒนาครูที่ใช้ระบบสื่อสาร 2 ทางผ่านระบบออนไลน์ระหว่างผู้พัฒนากับผู้ได้รับการพัฒนา ได้แก่ 1) ฐานข้อมูลสารสนเทศแบบเปิดสื่อสาร 2 ทาง นักศึกษาและครูสามารถนำไปสร้างเป็นฐานข้อมูลด้านต่าง ๆ ตามความต้องการได้ด้วยตนเอง 2) ฐานข้อมูลสารสนเทศจัดการความรู้ 3) ฐานข้อมูลสารสนเทศประชาสัมพันธ์ 4) ฐานข้อมูลสารสนเทศเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลอื่น ๆ ผลการศึกษาความพึงพอใจของผู้ใช้ฐานข้อมูลสารสนเทศ พบว่า ด้านความมีประโยชน์และเชื่อถือได้ และด้านการออกแบบและจัดระบบ อยู่ในระดับมากทุกรายการประเมิน
5. ผลการประเมินสมรรถนะหลักและสมรรถนะตามสายงาน อยู่ในระดับมาก ซึ่งสมรรถนะทางด้านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ มีข้อมูลเชิงประจักษ์จากการปฏิบัติการจริงและมี ผลงานชัดเจน คือ นักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู และครูพี่เลี้ยงใช้ฐานข้อมูลสารสนเทศ เครือข่ายเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ บนเว็บไซต์ของโครงการวิจัยฯ สร้าง Homepage ของตนเอง และสร้างฐานข้อมูลที่จำเป็นต่อการจัดการเรียนการสอนได้
ยุทธวิธีพัฒนาครูยุคใหม่สู่ครูมืออาชีพภายใต้บริบทของสถานศึกษาโดยใช้ฐานข้อมูลสารสนเทศเครือข่ายเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.