การบูรณาการวิถีชีวิต อัตลักษณ์ ความหลากหลายทางวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาการศึกษาสู่ความมั่นคงของเยาวชนในระบบโรงเรียน
The Integration of Ways of Life, Identity and Cultural Diversity to Develop Social Security of Youth in School System

: ชื่อผู้วิจัย ณพัชญาฐ์ สุขพัชราภรณ์
: ตำแหน่ง -
: อื่นๆ
: ปี 2556
: 275

logo onec

บทคัดย่อ (Abstract)

การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างหน่วยการเรียนรู้ที่เป็นการบูรณาการวิถีชีวิต อัตลักษณ์ ความหลากหลายทางวัฒนธรรมสำหรับเยาวชนที่กำลังศึกษาในระบบโรงเรียน จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อพัฒนาศักยภาพทางการศึกษาของเยาวชนในระบบโรงเรียนและเพื่อสร้างความมั่นคงของเยาวชนที่มาจากหลายวัฒนธรรม ให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข โดยคงอัตลักษณ์ของตนไว้การวิจัยครั้งนี้มีกลุ่มประชากร ได้แก่ เยาวชนที่กำลังศึกษาในระบบโรงเรียน ในแขวงนครพิงค์ จังหวัดเชียงใหม่ ปีการศึกษา 2556 กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตล้านนา จำนวน 157 คน

เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ 1) เครื่องมือสำหรับการสร้างหน่วยการเรียนรู้ ได้แก่ แบบประเมินความมั่นคงของมนุษย์และสังคมส่วนบุคคล และแบบสอบถามความต้องการและความสนใจของผู้เรียนที่มีต่อหัวข้อในการจัดทำหน่วยการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ 2) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ หน่วยการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ จำนวน 5 หน่วย แบบทดสอบก่อนและหลังเรียนเกี่ยวกับความรู้เกี่ยวกับวิถีชีวิต อัตลักษณ์ ความหลากหลายทางวัฒนธรรมของจังหวัดเชียงใหม่ แบบประเมินทักษะภาษาอังกฤษและความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิถีชีวิต อัตลักษณ์ ความหลากหลายทางวัฒนธรรมของจังหวัดเชียงใหม่และแบบประเมินความพึงพอใจของผู้เรียนที่มีต่อการอบรมภาษาอังกฤษ ผู้วิจัยนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป เพื่อหาค่าสถิติ ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน

ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้

1. หน่วยการเรียนรู้ภาษาอังกฤษเกี่ยวกับวิถีชีวิต อัตลักษณ์ ความหลากหลายทางวัฒนธรรมของชุมชนแขวงนครพิงค์จังหวัดเชียงใหม่ มีประสิทธิภาพเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด

2. ผลการประเมินทักษะภาษาอังกฤษและความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิถีชีวิต อัตลักษณ์ความหลากหลายทางวัฒนธรรมของเยาวชนที่มีต่อชุมชนแขวงนครพิงค์ จังหวัดเชียงใหม่ ในแต่ละหน่วยการเรียนรู้ ผ่านเกณฑ์ที่กำหนดไว้ อยู่ในระดับดี และคะแนนการทดสอบความรู้เกี่ยวกับวิถีชีวิต อัตลักษณ์ ความหลากหลายทางวัฒนธรรมของจังหวัดเชียงใหม่ หลังการอบรมของผู้เรียนสูงขึ้น คิดเป็นร้อยละ 81.30 ซึ่งผ่านเกณฑ์การตัดสินร้อยละ 70 ที่ตั้งไว้ มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01

3. ผลการประเมินความมั่นคงของมนุษย์และสังคมส่วนบุคคลของผู้เรียนก่อนเข้ารับการอบรมภาษาอังกฤษ ปรากฏว่า ผู้เรียนมีความรู้สึกมั่นคงในมิติด้านการมีงานทำและรายได้อยู่ในระดับต่ำ ในขณะที่มิติด้านสังคมและวัฒนธรรม ความมั่นคงส่วนบุคคลครอบครัว และการสนับสนุนทางสังคมอยู่ในระดับปานกลาง และสำหรับมิติด้านการศึกษา ผู้เรียนมีความคิดเห็นว่าทุกคนในครอบครัวควรได้รับการศึกษา มีความสนใจที่จะพัฒนาตนเองเพื่อความก้าวหน้าในอาชีพ รวมถึงเห็นความสำคัญในการศึกษาภาษาที่คนในสังคมส่วนใหญ่ใช้สื่อสารกันอยู่ในระดับสูง และผู้เรียนเห็นว่าตนเองมีโอกาสที่จะได้รับการศึกษาหรืออบรมเพื่อพัฒนาทักษะความสามารถของตนอยู่ในระดับค่อนข้างสูง

4. ผู้เรียนมีความพึงพอใจต่อการอบรมภาษาอังกฤษเกี่ยวกับวิถีชีวิต อัตลักษณ์ความหลากหลายทางวัฒนธรรมของจังหวัดเชียงใหม่อยู่ในระดับมาก โดยมีค่าเฉลี่ยรวมเท่ากับ 4.18

`

การบูรณาการวิถีชีวิต อัตลักษณ์ ความหลากหลายทางวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาการศึกษาสู่ความมั่นคงของเยาวชนในระบบโรงเรียนThe Integration of Ways of Life, Identity and Cultural Diversity to Develop Social Security of Youth in School System is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.