การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนกลุ่มวิชาภูมิศาสตร์ที่ส่งเสริมคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักศึกษาครุศาสตร์ สาขาวิชาสังคมศึกษา
The Development of Geography Instructional Model to Enhance Qualified Characteristics of Undergraduate Students
: ชื่อผู้วิจัย ดร.วินัยธร วิชัยดิษฐ์
: ตำแหน่ง -
: หลักสูตรและการเรียนรู้
: ปี 2555
: 525
บทคัดย่อ (Abstract)
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ของการวิจัยเพื่อ 1) พัฒนาและหาประสิทธิภาพของรูปแบบการจัดการเรียนการสอนกลุ่มวิชาภูมิศาสตร์ที่ส่งเสริมคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักศึกษาครุศาสตร์ สาขาวิชาสังคมศึกษา 2) เปรียบเทียบผลการเรียนรู้วิชาภูมิศาสตร์กายภาพ ของนักศึกษาที่เรียนด้วยรูปแบบการจัดการเรียนการสอนกลุ่มวิชาภูมิศาสตร์ก่อนและหลังการทดลองใช้รูปแบบการจัดการเรียนการสอน 3) เปรียบเทียบคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักศึกษาที่เรียนด้วยรูปแบบการจัดการเรียนการสอนกลุ่มวิชาภูมิศาสตร์ ประเมินโดยอาจารย์ผู้สอนและผู้เรียนประเมินตนเองก่อนและหลังการทดลองใช้รูปแบบการจัดการเรียนการสอน และ 4) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักศึกษาที่มีต่อรูปแบบการจัดการเรียนการสอน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้เป็นนักศึกษาสาขาวิชาสังคมศึกษา ชั้นปีที่ 1 คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี จำนวน 50 คน ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2555
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย รูปแบบการจัดการเรียนการสอนกลุ่มวิชาภูมิศาสตร์ แผนการจัดการเรียนรู้ แบบทดสอบวัดผลการเรียนรู้วิชาภูมิศาสตร์กายภาพ แบบประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ และแบบสอบถามความพึงพอใจ การวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติทีแบบไม่อิสระและการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัย พบว่า
1. รูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้นมีชื่อเรียกว่า EPCPAFE Model มีองค์ประกอบคือ หลักการ วัตถุประสงค์กระบวนการเรียนการสอน สาระความรู้และการปฏิบัติ สิ่งที่ส่งเสริมการเรียนรู้ ระบบสังคม สิ่งสนับสนุนและหลักการตอบสนอง ซึ่งมีกระบวนการเรียนการสอน 7 ขั้น คือ 1) ขั้นเร้าความสนใจ (E : Encouragement) 2) ขั้นให้ความรู้และฝึกปฏิบัติ (P : Presentation and Practice) 3) ขั้นสร้างความคิดรวบยอด (C : Conceptualization of Knowledge) 4) ขั้นดำเนินการพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ (P : Proceeding of Characteristics Development) 5) ขั้นประเมินความก้าวหน้า (A : Assessment of Growth Development) 6) ขั้นส่งเสริมพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ (F : Fostering of Higher Level Characteristics Development) และ 7) ขั้นประเมินผล (E : Evaluation) รูปแบบการจัดการเรียนการสอนมีค่าประสิทธิภาพ (E1/E2) เท่ากับ 83.60/80.90 ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้
2. ผลการเรียนรู้วิชาภูมิศาสตร์กายภาพของนักศึกษาที่เรียนด้วยรูปแบบการเรียนการสอนกลุ่มวิชาภูมิศาสตร์ก่อนเรียนและหลังเรียนแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยผลการเรียนรู้วิชาภูมิศาสตร์กายภาพหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน
3. คุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักศึกษาที่เรียนด้วยรูปแบบการเรียนการสอนกลุ่มวิชาภูมิศาสตร์ประเมินโดยอาจารย์ผู้สอนและผู้เรียนประเมินตนเอง ก่อนเรียนและหลังเรียนแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักศึกษาหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน
4. ความพึงพอใจของนักศึกษาที่มีต่อรูปแบบการเรียนการสอนกลุ่มวิชาภูมิศาสตร์ ที่ส่งเสริมคุณลักษณะอันพึงประสงค์นักศึกษามีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก โดยเฉพาะบรรยากาศในการเรียนไม่ตึงเครียด ทำให้นักศึกษาทราบผลการประเมินทันที สนใจเรียนรู้เพิ่มขึ้น
การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนกลุ่มวิชาภูมิศาสตร์ที่ส่งเสริมคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักศึกษาครุศาสตร์ สาขาวิชาสังคมศึกษาThe Development of Geography Instructional Model to Enhance Qualified Characteristics of Undergraduate Students is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.