รูปแบบการร่วมมือกันพัฒนาวิชาชีพเพื่อส่งเสริมความเชี่ยวชาญด้านการสอนของอาจารย์ที่พัฒนาทักษะการคิดขั้นสูง ของนักศึกษาในระดับอุดมศึกษา
The Collaborative Professional Development Model for the Promotion of Faculty’s Teaching Expertise to Enhance Higher Order Thinking Skills of Students in Higher Education Level

: ชื่อผู้วิจัย ดร.พิกุล ประดับศรี
: ตำแหน่ง -
: อุดมศึกษา
: ปี 2555
: 315

logo onec

บทคัดย่อ (Abstract)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนาและตรวจสอบความสมเหตุสมผลของรูปแบบการร่วมมือกันพัฒนาวิชาชีพเพื่อส่งเสริมความเชี่ยวชาญด้านการสอนของอาจารย์ที่พัฒนาทักษะการคิดขั้นสูงของนักศึกษาในระดับอุดมศึกษา 2) ศึกษาประสิทธิผลของรูปแบบการร่วมมือกันพัฒนาวิชาชีพที่พัฒนาขึ้น ดำเนินการวิจัยด้วยการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) และประยุกต์ใช้การวิจัยแบบผสมผสาน (Mixed Method Research) ดำเนินการทดลองโดยประยุกต์ใช้แบบการทดลองแบบกลุ่มตัวอย่างเดียวมีการทดสอบก่อนและหลังการทดลอง (One-Group Pretest-Posttest Design) ผสมผสานกับการวิจัยแบบดุลยภาพเวลาและกลุ่มตัวอย่างของการทดลองต่อเนื่อง (Equivalent Time-Samples Design) กลุ่มตัวอย่างได้จากการเลือกแบบเจาะจง โดยเลือกอาจารย์กลุ่มวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 4 คน และนักศึกษากลุ่มวิศวกรรมศาสตร์ จำนวน 318 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ คู่มือการพัฒนาวิชาชีพ แผนการพัฒนาวิชาชีพ แผนการสอน แบบทดสอบ แบบประเมิน แบบบันทึก แบบสังเกต แบบสอบถามและประเด็นการสนทนากลุ่ม ที่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพของเครื่องมือ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าร้อยละ การวิเคราะห์เนื้อหาและสถิติแบบไม่อิงค่าพารามิเตอร์ (Non-Parametric) โดยการทดสอบอันดับที่มีเครื่องหมายกำกับของวิลคอกซัน การทดสอบค่าที และการวิเคราะห์เนื้อหา

ผลการวิจัย พบว่า

1. การพัฒนารูปแบบการร่วมมือกันพัฒนาวิชาชีพ ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน ได้แก่ 1) การวิจัยเพื่อศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับการพัฒนารูปแบบการร่วมมือกันพัฒนาวิชาชีพ 2) การพัฒนารูปแบบการร่วมมือกันพัฒนาวิชาชีพ 3) การวิจัยทดลองหาประสิทธิผลของรูปแบบการพัฒนาวิชาชีพ 4) การพัฒนาปรับปรุงรูปแบบการพัฒนาวิชาชีพ ได้รูปแบบการร่วมมือกันพัฒนาวิชาชีพเอสยูทีโกล (SUTGOAL Model) ประกอบด้วยองค์ประกอบ 5 ส่วน คือ หลักการ วัตถุประสงค์ เงื่อนไขการนารูปแบบไปใช้ ปัจจัยสนับสนุน และขั้นตอนการดำเนินการ มีกระบวนการดำเนินการพัฒนาวิชาชีพ 7 ขั้น ได้แก่ ขั้นที่ 1 การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านประสบการณ์แนวคิดในการพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียน การสะท้อนปัญหาและมุมมองในการแก้ไขปัญหา (S: Sharing Experience)ขั้นที่ 2 การทำความเข้าใจผลการเรียนของผู้เรียนและการวิเคราะห์ผู้เรียนเพื่อกำหนดผลลัพธ์การเรียนรู้ที่ต้องการให้เกิดขึ้นกับผู้เรียน (U: Understanding Student’s Learning Outcome) ขั้นที่ 3 การระบุผลลัพธ์การเรียนรู้ที่ต้องการให้เกิดขึ้นกับผู้เรียน (T: Target Area Identification) ขั้นที่ 4 การกำหนดองค์ประกอบ เพื่อจัดทำแผนพัฒนาตนเอง (G: Generating Self-professional Development Plan) ขั้นที่ 5 การจัดทำแผนพัฒนาตนเองและแผนการปฏิบัติการวิจัยในชั้นเรียนของอาจารย์ในการสอนเพื่อพัฒนานักศึกษาให้เกิดทักษะการคิดขั้นสูง (O: Organizing Plan For Professional Growth) ขั้นที่ 6 การดำเนินการพัฒนา โดยมีการรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูลและสรุปผลในรูปแบบการร่วมมือกันทำวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน มีการสังเกตการสอนระหว่างเพื่อนอาจารย์ (A: Approaching Professional Development) และขั้นที่ 7 การเรียนรู้ด้วยตนเองจากการไตร่ตรองสะท้อนคิดจากผลการวิจัยชั้นเรียน มีการแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดและประสบการณ์ และการประเมินผลเพื่อการพัฒนาปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง (L: Learning From Reflections)

2. รูปแบบการร่วมมือกันพัฒนาวิชาชีพเอสยูทีโกล มีความสมเหตุสมผล มีประสิทธิผล คือ ความเชี่ยวชาญด้านการสอนของอาจารย์ ได้แก่ ความรู้ความเข้าใจของอาจารย์เกี่ยวกับการสอนที่พัฒนาการคิดขั้นสูงหลังการใช้รูปแบบการร่วมมือกันพัฒนาวิชาชีพ สูงกว่าก่อนการใช้รูปแบบการร่วมมือกันพัฒนาวิชาชีพฯ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 อาจารย์มีความสามารถในการจัดการสอนที่พัฒนาทักษะการคิดขั้นสูง ด้านความสามารถในการเขียนแผนการสอนอยู่ในระดับสูงมาก และด้านการสอนอยู่ในระดับสูงมาก อาจารย์มีพัฒนาการความสามารถด้านการสอนสูงขึ้นตามลำดับทุกคน และความสามารถในการคิดขั้นสูงของนักศึกษาสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และอาจารย์กลุ่มวิศวกรรมศาสตร์ มีความเห็นว่ารูปแบบที่พัฒนาขึ้นส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาวิชาชีพและการจัดการเรียนการสอนที่ส่งเสริมการคิดขั้นสูง รวมทั้งนักศึกษากลุ่มวิศวกรรมศาสตร์มีความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนการสอนที่ส่งเสริมการคิดขั้นสูงของอาจารย์ระดับมากที่สุด

`

รูปแบบการร่วมมือกันพัฒนาวิชาชีพเพื่อส่งเสริมความเชี่ยวชาญด้านการสอนของอาจารย์ที่พัฒนาทักษะการคิดขั้นสูง ของนักศึกษาในระดับอุดมศึกษาThe Collaborative Professional Development Model for the Promotion of Faculty’s Teaching Expertise to Enhance Higher Order Thinking Skills of Students in Higher Education Level is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.