การพัฒนาหลักสูตรการฝึกประสบการณ์งานอุตสาหกรรม ของนักศึกษาสาขาเทคโนโลยีอุตสาหการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล
Development of an industrial professional experience training program for students of industrial technology Rajamangala university of technology

: ชื่อผู้วิจัย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เทพนารินทร์ ประพันธ์พัฒน์
: ตำแหน่ง -
: หลักสูตรและการเรียนรู้
: ปี 2554
: 332

logo onec

บทคัดย่อ (Abstract)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาหลักสูตรการฝึกประสบการณ์งานอุตสาหกรรม ของนักศึกษาสาขาเทคโนโลยีอุตสาหการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล วิธีการดำเนินการเป็นการวิจัยและพัฒนา โดยมีขั้นตอนดำเนินการ 4 ขั้นตอน คือ 1) วิเคราะห์ความต้องการจำเป็น 2) การออกแบบและพัฒนาหลักสูตร 3) การทดลองใช้หลักสูตร และ 4) การประเมินผลหลักสูตร ประชากรคือนักศึกษาสาขาเทคโนโลยีอุตสาหการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ปีการศึกษา 2553 กลุ่มตัวอย่างได้มาจากการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Sampling) ได้นักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล สุวรรณภูมิเป็นกลุ่มตัวอย่างในการเก็บรวบรวมข้อมูลจำนวน 14 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) แบบสอบถาม 2) แบบสัมภาษณ์ และ 3) หลักสูตรฝึกอบรม วิเคราะห์ข้อมูลการวิจัยโดยใช้ ค่าร้อยละ (%) ค่าเฉลี่ย (x̅) ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) และการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis)

ผลการวิจัยพบว่า

1. ผลการวิเคราะห์ความต้องการจำเป็น พบว่า การฝึกประสบการณ์ควรมุ่งเน้นงานอุตสาหกรรม 1) ด้านการทบทวนทฤษฎีและปฏิบัติ 2) ด้านบุคลิกภาพและมนุษย์สัมพันธ์ และ 3) ด้านคุณธรรม จริยธรรมของนักศึกษา

2. ผลการออกแบบและพัฒนาหลักสูตร ได้นำจุดประสงค์ทั้ง 3 ด้าน มาออกแบบหลักสูตรการฝึกงานของนักศึกษา โดยประยุกต์ใช้หลักทฤษฎีของรูปแบบการพัฒนาหลักสูตรแบบการออกแบบย้อนกลับ (Backward design) และประยุกต์ใช้หลักแนวคิดของการประเมินหลักสูตรอาชีวศึกษา (TECA) โดยการร่างหลักสูตรออกมาเป็น 11 หน่วย ใช้เวลา 270 ชั่วโมง และจากการนำหลักสูตรไปทดลองใช้กับนักศึกษาจำนวน 25 คน หาค่าประสิทธิภาพของหลักสูตรได้ผลดังนี้ คือ 1) ด้านการทบทวนทฤษฎีและปฏิบัติได้ค่าประสิทธิภาพ 87.20 2) ด้านบุคลิกภาพ และมนุษย์สัมพันธ์ได้ค่าประสิทธิภาพ 87.00 และ 3) ด้านคุณธรรม จริยธรรมของนักศึกษาได้ค่าประสิทธิภาพ 87.20 และข้อมูลจากการสัมภาษณ์เกี่ยวกับปัญหาอุปสรรค และความเป็นไปได้ในการนำหลักสูตรไปใช้สรุปได้ว่ามีความเป็นไปได้ที่จะนำไปใช้ในสถานประกอบการ

3. ผลการทดลองใช้หลักสูตร จากการนำหลักสูตรไปทดลองใช้กับนักศึกษา จำนวน 14 คน ได้ระดับคะแนนเฉลี่ย 2.67 จากคะแนนเต็ม 3 คะแนน สรุปว่า ผลการประเมินตามจุดประสงค์ทั้ง 3 ด้าน จากคะแนนการประเมิน 5 ระดับ ส่วนใหญ่ได้รับความสำคัญในระดับมาก ซึ่งได้แก่ด้านบุคลิกภาพและมนุษย์สัมพันธ์ ค่าเฉลี่ย (x̅ = 4.34, S.D = 0.35) รองลงมาคือด้านคุณธรรม จริยธรรม ค่าเฉลี่ย (x̅ = 4.30, S.D. = 0.23) และด้านทบทวน ทฤษฎีและปฏิบัติ ค่าเฉลี่ย (x̅ = 4.26, S.D. = 0.25) ตามลำดับ

4. ผลการประเมินและปรับปรุงหลักสูตร จากการคำนวณหาได้ค่าประสิทธิภาพของหลักสูตรได้ผลดังนี้ คือ 1) ด้านทบทวนทฤษฎีและปฏิบัติ 85.20 2) ด้านบุคลิกภาพและมนุษย์สัมพันธ์ 86.80 และ 3) ด้านคุณธรรม จริยธรรม 86.00 สรุปคือหลักสูตรมีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80 และหลักสูตรการฝึกประสบการณ์งานอุตสาหกรรมมีเกณฑ์การให้คะแนนที่ชัดเจน สถานประกอบการสามารถปฏิบัติได้

`

การพัฒนาหลักสูตรการฝึกประสบการณ์งานอุตสาหกรรม ของนักศึกษาสาขาเทคโนโลยีอุตสาหการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลDevelopment of an industrial professional experience training program for students of industrial technology Rajamangala university of technology is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.