การพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมนักศึกษาวิชาชีพครูเพื่อพัฒนาความสามารถการจัดประสบการณ์ที่เสริมสร้างความฉลาด ทางอารมณ์ สำหรับเด็กปฐมวัย
The development of a training curriculum of teaching professional students on the development of the capability on the experience arrangement of emotional intelligence enhancement for early childhood
: ชื่อผู้วิจัย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อารีย์ พรหมเล็ก
: ตำแหน่ง -
: หลักสูตรและการเรียนรู้
: ปี 2553
: 863
บทคัดย่อ (Abstract)
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาและประเมินคุณภาพหลักสูตรฝึกอบรมนักศึกษาวิชาชีพครู เพื่อพัฒนาความสามารถการจัดประสบการณ์ที่เสริมสร้างความฉลาดทางอารมณ์ สำหรับเด็กปฐมวัย โดยการวิจัยพัฒนามี 4 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ศึกษาและวิเคราะห์ความต้องการจำเป็น เพื่อเป็นแนวทางนิยามความสามารถ พฤติกรรมบ่งชี้ และแนวทางการพัฒนาความสามารถนักศึกษาวิชาชีพครูในการจัดประสบการณ์ที่เสริมสร้างความฉลาดทางอารมณ์ สำหรับเด็กปฐมวัย ระยะที่ 2 การออกแบบและพัฒนาหลักสูตร เพื่อกำหนดกรอบแนวคิด การสร้างหลักสูตรและเครื่องมือประเมินคุณภาพหลักสูตรจากเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ทำการตรวจสอบความเหมาะสมและความสอดคล้องโดยผู้เชี่ยวชาญ จากนั้นทำการศึกษานำร่องเพื่อศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ก่อนนำไปใช้ ระยะที่ 3 การทดลองใช้หลักสูตรเป็นการวิจัยกึ่งทดลอง (Quasi-Experimental Research) กำหนดกลุ่มตัวอย่างในการทดลอง 2 กลุ่ม คือ 1. นักศึกษาวิชาชีพครู หลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาการศึกษาปฐมวัย โครงการความร่วมมือระหว่าง
กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จำนวน 50 คน ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2553 ใช้แบบการวิจัยแบบหนึ่งกลุ่มสอบก่อนสอบหลัง (The One-Group Pretest-Posttest Design) 2. เด็กปฐมวัยอายุ 3-4 ปี กำลังเรียนอยู่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์กรปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ที่นักศึกษาวิชาชีพครูปฏิบัติงาน จำนวน 500 คน ใช้แบบแผนการวิจัยแบบหนึ่งกลุ่มวัดและประเมินก่อน 2 ครั้ง และวัดและประเมินหลัง 2 ครั้ง (One-group Time-Series Design) และระยะที่ 4 การประเมินคุณภาพหลักสูตร ทำโดยการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณด้วยค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบ t-test แบบ dependent และการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพด้วยการวิเคราะห์เนื้อหาเครื่องมือประเมินคุณภาพหลักสูตรคือ 1. เครื่องมือประเมินนักศึกษาวิชาชีพครูได้แก่ แบบประเมินความรู้การจัดประสบการณ์ที่เสริมสร้างความฉลาดทางอารมณ์ แบบประเมินความสามารถในการเขียนแผนการจัดประสบการณ์ที่เสริมสร้างความฉลาดทางอารมณ์ แบบประเมินความสามารถในการจัดประสบการณ์ที่เสริมสร้างความฉลาดทางอารมณ์ แบบทดสอบความคิดเห็นของนักศึกษาวิชาชีพครูที่มีต่อหลักสูตร 2. เครื่องมือประเมินเด็กปฐมวัยได้แก่ แบบประเมินความฉลาดทางอารมณ์ของเด็กปฐมวัยจำนวน 3 ฉบับ
ผลการวิจัยพบว่า
1. ความต้องการจำเป็นในการพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมนักศึกษาวิชาชีพครูเพื่อพัฒนาความสามารถการจัดประสบการณ์ที่เสริมสร้างความฉลาดทางอารมณ์สำหรับเด็กปฐมวัย ความต้องการจำเป็นในการพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมนักศึกษาวิชาชีพครู เพื่อพัฒนาความสามารถการจัดประสบการณ์ที่เสริมสร้างความฉลาดทางอารมณ์สำหรับเด็กปฐมวัยพบว่า นักศึกษาวิชาชีพครูมีความสำคัญอย่างมากที่จะส่งเสริมพัฒนาการ ด้านอารมณ์-จิตใจสำหรับเด็กปฐมวัย ซึ่งนักศึกษาวิชาชีพครูต้องมีความรู้ทั้งในเรื่องการออกแบบกิจกรรมตามสาระการเรียนรู้ การใช้สื่อเพื่อการเรียนการสอน และทักษะในการเสริมสร้างความฉลาดทางอารมณ์ วิธีการพัฒนานักศึกษาวิชาชีพครูให้สามารถจัดประสบการณ์ที่เสริมสร้างความฉลาดทางอารมณ์สำหรับเด็กปฐมวัยนั้น สถานศึกษาและองค์กรที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือดำเนินงานไปพร้อม ๆ กัน โดยมีการพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมและมีการนิเทศติดตามผลการใช้หลักสูตรฝึกอบรม
2. องค์ประกอบหลักสูตรฝึกอบรมนักศึกษาวิชาชีพครูเพื่อพัฒนาความสามารถการจัดประสบการณ์ที่เสริมสร้างความฉลาดทางอารมณ์สำหรับเด็กปฐมวัย ประกอบด้วย หลักการและเหตุผล จุดมุ่งหมายของหลักสูตร เนื้อหาและประสบการณ์การเรียนรู้ กิจกรรมการเรียนการสอน สื่อและแหล่งการเรียนรู้ การวัดและประเมินผลการเรียนรู้
3. ความรู้เกี่ยวกับการจัดประสบการณ์ที่เสริมสร้างความฉลาดทางอารมณ์ของนักศึกษาวิชาชีพครูพบว่า หลังอบรมสูงกว่าก่อนอบรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
4. ความสามารถในการเขียนแผนการจัดประสบการณ์ที่เสริมสร้างความฉลาดทางอารมณ์ของนักศึกษาวิชาชีพครู อยู่ในระดับมาก
5. ความสามารถในการจัดประสบการณ์ที่เสริมสร้างความฉลาดทางอารมณ์ของนักศึกษาวิชาชีพครู อยู่ในระดับมาก
6. ความคิดเห็นของนักศึกษาวิชาชีพครูที่มีต่อหลักสูตรฝึกอบรมนักศึกษาวิชาชีพครูเพื่อพัฒนาความสามารถการจัดประสบการณ์ที่เสริมสร้างความฉลาดทางอารมณ์สำหรับเด็กปฐมวัย อยู่ในระดับมาก
7. ความฉลาดทางอารมณ์ของเด็กปฐมวัยที่มีพัฒนาการความฉลาดทางอารมณ์อยู่ในระดับมากที่สุด และพัฒนาสูงขึ้นอย่างเป็นลำดับ และมีอัตราพัฒนาการความฉลาดทางอารมณ์เฉลี่ย 4.36 คะแนนต่อครั้ง อยู่ในระดับมากที่สุด
การพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมนักศึกษาวิชาชีพครูเพื่อพัฒนาความสามารถการจัดประสบการณ์ที่เสริมสร้างความฉลาด ทางอารมณ์ สำหรับเด็กปฐมวัยThe development of a training curriculum of teaching professional students on the development of the capability on the experience arrangement of emotional intelligence enhancement for early childhood is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.