การพัฒนารูปแบบการเรียนด้วยตนเองด้วยกิจกรรมการรู้คิดในการอ่านภาษาอังกฤษสำหรับนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ประเภทวิชาอุตสาหกรรม
Development of Self-Directed Model in English Reading Using Metacognitive Activities for Industrial Diploma Students
: ชื่อผู้วิจัย ดร.ฉลวย ม่วงพรวน
: ตำแหน่ง -
: หลักสูตรและการเรียนรู้
: ปี 2553
: 386
บทคัดย่อ (Abstract)
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนารูปแบบการเรียนด้วยตนเองด้วยกิจกรรมการรู้คิดในการอ่านภาษาอังกฤษ สำหรับนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ประเภทวิชาอุตสาหกรรม 2) เพื่อประเมินรูปแบบที่สร้างขึ้น ประเมินความสามารถในการอ่านภาษาอังกฤษ คุณลักษณะด้านการเรียนด้วยตนเอง และพัฒนาการในการอ่านภาษาอังกฤษของผู้เรียน การดำเนินการวิจัยแบ่งออกเป็น 2 ตอน ตอนที่ 1 การศึกษาบริบทปัญหาพื้นฐาน แนวคิดเกี่ยวกับการเรียนด้วยตนเองและรูปแบบการอ่านเพื่อความเข้าใจ โดยใช้กิจกรรมการรู้คิด สังเคราะห์ได้รูปแบบการเรียนด้วยตนเองด้วยกิจกรรมการรู้คิดในการอ่าน ตรวจสอบรูปแบบโดยผู้ทรงคุณวุฒิ 5 ท่าน ตอนที่ 2 ประเมินรูปแบบด้วยการวิจัยและพัฒนา นำรูปแบบที่พัฒนาขึ้นไปใช้ในชั้นเรียน กลุ่มตัวอย่างคือ นักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงปีที่ 1 สาขาวิชาอิเล็กทรอนิกส์ ที่ลงทะเบียนเรียนในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2552 วิทยาลัยเทคนิคสุพรรณบุรี จำนวน 32 คน ได้มาโดยการสุ่มจากนักศึกษาระดับประกาศนียบัตร วิชาชีพชั้นสูงปีที่ 1 ทั้งหมด 8 สาขาวิชา กลุ่มตัวอย่างเรียนด้วยรูปแบบที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้น คือ 1) ผู้สอนฝึกกิจกรรมการรู้คิดในการอ่าน ใช้เวลา 6 สัปดาห์ 2) ผู้เรียนเลือกเรื่องอ่านด้วยตนเอง นอกเวลา พร้อมบันทึกการอ่านสัปดาห์ละ 1 เรื่อง รวม 10 เรื่อง ใช้เวลา 10 สัปดาห์ 3) ผู้สอนประเมินผลการอ่านจากบันทึกการอ่าน รวมเวลาที่ใช้ในการทดลอง 16 สัปดาห์ เครื่องมือที่ใช้รวบรวมข้อมูลในการวิจัย คือ 1) แบบทดสอบความสามารถในการอ่านภาษาอังกฤษ 2) แบบวัดคุณลักษณะด้านการเรียนด้วยตนเอง และ 3) แบบสัมภาษณ์การสนทนากลุ่มผู้เรียนหลังเรียน วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการทดสอบความแตกต่างของค่าเฉลี่ย การคำนวณค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและค่าร้อยละ
ผลการวิจัย พบว่า รูปแบบการเรียนด้วยตนเองด้วยกิจกรรมการรู้คิดในการอ่านภาษาอังกฤษที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้น ประกอบด้วย หลักการ จุดมุ่งหมาย เนื้อหา กระบวนการเรียนการสอนและการวัดประเมินผล เรียกว่า SPPSE Model มี 5 ขั้นตอนคือ 1) การสำรวจพฤติกรรมการอ่าน (S) 2) การเตรียมผู้เรียน (P) 3) การวางแผน (P) 4) การอ่านด้วยตนเอง (S) และ 5) การประเมินการอ่าน (E)
ผลของการทดลองใช้รูปแบบ พบว่า 1) คะแนนความสามารถในการอ่านภาษาอังกฤษของกลุ่มตัวอย่าง หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 2) คะแนนเฉลี่ยคุณลักษณะด้านการเรียนด้วยตนเองของกลุ่มตัวอย่างก่อนเรียนและหลังเรียนแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ และ 3) ผู้เรียนมีพัฒนาการด้านการอ่านภาษา โดยคะแนนความเข้าใจในการอ่านและการใช้กิจกรรมการรู้คิดครั้งที่ 2-10 สูงกว่าคะแนนการอ่านครั้งที่ 1 คะแนนการอ่านครั้งที่ 10 สูงกว่าครั้งที่ 1 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
การพัฒนารูปแบบการเรียนด้วยตนเองด้วยกิจกรรมการรู้คิดในการอ่านภาษาอังกฤษสำหรับนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ประเภทวิชาอุตสาหกรรมDevelopment of Self-Directed Model in English Reading Using Metacognitive Activities for Industrial Diploma Students is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.