รูปแบบการพัฒนาหลักสูตรที่สอดคล้องกับกระบวนการเรียนรู้ของชุมชนตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง
Curriculum Development Model Related to the Community Learning Process Based on Sufficiency Economy Philosophy

: ชื่อผู้วิจัย ดร.กิตติธัช คงชะวัน
: ตำแหน่ง -
: หลักสูตรและการเรียนรู้
: ปี 2553
: 457

logo onec

บทคัดย่อ (Abstract)

การวิจัยเรื่อง รูปแบบการพัฒนาหลักสูตรที่สอดคล้องกับกระบวนการเรียนรู้ของชุมชนตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง มีวัตถุประสงค์ 4 ประการ คือ 1) เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐานและความต้องการรูปแบบ 2) เพื่อพัฒนารูปแบบ 3) เพื่อทดลองใช้รูปแบบ 4) เพื่อประเมินรูปแบบเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย แบบทดสอบความรู้ด้านการสร้างหลักสูตรท้องถิ่นของครู แบบประเมินหลักสูตรของครู แบบสัมภาษณ์ความพึงพอใจของครูที่มีต่อรูปแบบ แบบทดสอบความรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงของนักเรียน แบบสอบถามความพึงพอใจนักเรียนที่มีต่อการเรียนในหลักสูตรและแบบสัมภาษณ์ความพึงพอใจและเจตคติต่อท้องถิ่นของนักเรียน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและค่าร้อยละ สำหรับข้อมูลเชิงปริมาณและการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) สำหรับข้อมูลเชิงคุณภาพ

ผลการวิจัยพบว่า

1. แนวคิดกระบวนการเรียนรู้ของชุมชนตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของชุมชนตำบลท่าข้ามที่เป็นจุดเด่นคือ การเรียนรู้ที่เน้นการพัฒนาชีวิตคนในชุมชนจากรูปแบบการพัฒนาของชุมชนที่เรียนว่า “ท่าข้ามโมเดล”

2. รูปแบบการพัฒนาหลักสูตรที่สอดคล้องกับกระบวนการเรียนรู้ของชุมชนตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ที่พัฒนาขึ้นเรียกว่า LADIE Model ประกอบด้วย การทำความเข้าใจร่วมกัน (Learning) วิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน (Analysis) ร่วมกันจัดทำหลักสูตรและตรวจสอบ (Design) การนำหลักสูตรไปใช้ (Implementation) และการประเมินหลักสูตร (Evaluation)

3. หลังจากนำรูปแบบไปใช้กับครูโรงเรียนวัดท่าข้าม พบว่ามีความรู้ความเข้าใจและมีความสามารถในการพัฒนาหลักสูตรสาระการเรียนรู้ท้องถิ่นเป็นอย่างดี จากผลทดสอบความรู้ด้านการพัฒนาหลักสูตรและผลการประเมินหลักสูตรทั้ง 3 หลักสูตรของครูในภาพรวมมีอยู่ในระดับมากทั้งหมด สำหรับความพึงพอใจของครูที่มีต่อการใช้รูปแบบ พบว่า ครูมีความพึงพอใจเพราะเป็นประโยชน์ต่อครูทั้งในด้านการส่งเสริมให้ครูได้พัฒนาตนเองในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนและการกระตุ้นให้ครูได้มีความสัมพันธ์กับชุมชนมากขึ้น

4. นักเรียนมีความรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงและมีความพึงพอใจที่จะได้รับประสบการณ์ตรงจากผู้รู้หรือครูภูมิปัญญาท้องถิ่นซึ่งเป็นความรู้ที่สอดคล้องกับชีวิตจริงของผู้เรียน และนักเรียนมีความรู้สึกภูมิใจที่มีผู้นำที่เก่งในชุมชน และมีเจตคติที่ดีต่อท้องถิ่นของตนเอง

`

รูปแบบการพัฒนาหลักสูตรที่สอดคล้องกับกระบวนการเรียนรู้ของชุมชนตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง Curriculum Development Model Related to the Community Learning Process Based on Sufficiency Economy Philosophy is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.