การพัฒนารูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบผู้ปกครองมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาทักษะทางสังคม สำหรับนักเรียนปฐมวัย
The Development of an Experiential Model with Parental Participation to Enhance the Social Skills of Preschool Children
: ชื่อผู้วิจัย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ศิริวรรณ วณิชวัฒนวรชัย
: ตำแหน่ง -
: หลักสูตรและการเรียนรู้
: ปี 2552
: 580
บทคัดย่อ (Abstract)
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนารูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบผู้ปกครองมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาทักษะทางสังคมสำหรับนักเรียนปฐมวัย 2) ศึกษาประสิทธิผลของรูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบผู้ปกครองมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาทักษะทางสังคม สำหรับนักเรียนปฐมวัยเป็นการวิจัยและพัฒนา มีรูปแบบการวิจัยกึ่งทดลอง กลุ่มตัวอย่าง ประกอบด้วย ผู้ปกครองนักเรียนที่ได้มาจากการอาสาสมัครและเจาะจงเลือก จำนวน 15 คน นักเรียนปฐมวัยที่ได้มาจากการเป็นบุตรหลานของผู้ปกครองจำนวน 15 คน กำหนดเป็นกลุ่มทดลอง นักเรียนปฐมวัยที่ได้มาจากการเลือกแบบเจาะจงจำนวน 10 คน กำหนดเป็นกลุ่มเปรียบเทียบและครูผู้สอนจำนวน 4 คน จากศูนย์พัฒนาเด็กเล็กองค์การบริหารส่วนตำบลบางพลับ อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ที่ได้มาจากการเลือกแบบเจาะจง
ผลการวิจัยพบว่า
1. รูปแบบที่พัฒนาขึ้นมีชื่อว่า 3PDIE มีองค์ประกอบหลักคือ หลักการที่อยู่บนพื้นฐานมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและครูผู้สอนวัตถุประสงค์รูปแบบเพื่อพัฒนาทักษะทางสังคมของนักเรียนปฐมวัยด้านการช่วยเหลือและด้านการแบ่งปัน สาระและกระบวนการ กิจกรรมและขั้นตอนการดำเนินงาน ระยะเวลาและการวัดประเมินผล การมีส่วนร่วมของผู้ปกครองประกอบด้วย 3 ขั้นตอน คือ 1) มีส่วนร่วมในการวิเคราะห์ ตัดสินใจ (Participation in decision making: PD) 2) มีส่วนร่วมในการปฏิบัติ (Participation in implementation: PI) 3) มีส่วนร่วมในการประเมินผล (Participation in evaluation: PE) และการจัดประสบการณ์การเรียนรู้มี 3 ขั้นตอนคือ 1) ขั้นการเตรียมผู้เรียน 2) ขั้นการปฏิบัติกิจกรรม และ 3) ขั้นการประเมินผล
2. ผลการศึกษาประสิทธิผลของรูปแบบ พบว่า 1) นักเรียนปฐมวัยกลุ่มทดลองมีทักษะทางสังคมสูงขึ้นภายหลังการใช้รูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบผู้ปกครองมีส่วนร่วม 2) นักเรียนกลุ่มทดลองมีผลการประเมินทักษะทางสังคมทั้งสองด้านคือ ด้านการช่วยเหลือและด้านการแบ่งปันสูงกว่ากลุ่มเปรียบเทียบ โดยที่ไม่พบว่าตัวแปรทดลองและตัวแปรสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมของผู้ปกครองที่กำหนดส่งผลร่วมกันให้เกิดผลทักษะทางสังคมของนักเรียนแต่อย่างใด 3) ภายหลังการใช้รูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบผู้ปกครองมีส่วนร่วมครูผู้สอนและผู้ปกครองมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการนำรูปแบบไปใช้อยู่ในระดับดีมาก และมีความพึงพอใจต่อรูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบผู้ปกครองมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาทักษะทางสังคมอยู่ในระดับมาก โดยครูและผู้ปกครองมีความเห็นว่ารูปแบบ 3PDIE ที่พัฒนาขึ้นสามารถพัฒนาทักษะทางสังคมให้กับนักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพและรูปแบบ 3PDIE ยังส่งผลให้ครูและผู้ปกครองมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน อันเป็นผลจากการพัฒนาทักษะทางสังคมให้กับนักเรียนร่วมกัน
นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ปกครองที่มีสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมแตกต่างกัน คือผู้ปกครองที่มีอายุมากกว่าประกอบอาชีพรับราชการ/รัฐวิสาหกิจและมีรายได้มากกว่าส่งผลให้นักเรียนมีทักษะทางสังคมสูงกว่าอีกด้วย
การพัฒนารูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบผู้ปกครองมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาทักษะทางสังคม สำหรับนักเรียนปฐมวัยThe Development of an Experiential Model with Parental Participation to Enhance the Social Skills of Preschool Children is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.