รูปแบบการพัฒนาภาวะผู้นำทางวิชาการของผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง
A MODEL FOR DEVELOPING ACADEMIC LEADERSHIP OF SCHOOL ADMINITRATORS UNDER PRIMARY EDUCATIONAL SERVICE AREA OFFICES IN THE LOWER NORTHEASTERN REGION

: ชื่อผู้วิจัย ธนวัฒน์ ภิรมย์ไกรภักดิ์
: ตำแหน่ง -
: ครูและบุคลากรทางการศึกษา
: ปี 2558
: 692

logo onec

บทคัดย่อ (Abstract)

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยและพัฒนา มีความมุ่งหมายเพื่อพัฒนารูปแบบการพัฒนาภาวะผู้นำทางวิชาการของผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง โดยได้กำหนดวิธีดำเนินการวิจัยเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 ศึกษารูปแบบจากแหล่งข้อมูล 3 แหล่ง คือ จากเอกสารงานวิจัย จากการสัมภาษณ์เชิงลึก ผู้บริหารสถานศึกษาครูผู้ทำหน้าที่หัวหน้างานวิชาการโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาบุรีรัมย์เขต 1 และโรงเรียนบ้านแปรง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมาเขต 5 ที่เป็นโรงเรียนดีเด่น และจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้ทำหน้าที่หัวหน้างานวิชาการและประธานกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน รวม 372 คน โดยใช้แบบสอบถามแบบประมาณค่า 5 ระดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ระยะที่ 2 การร่างและพัฒนารูปแบบตรวจสอบความถูกต้องและความสอดคล้องของ

รูปแบบตามความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญ โดยใช้หลักการของเทคนิคเดลฟาย ยืนยันความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของรูปแบบโดยผู้เชี่ยวชาญ ระยะที่ 3 การทดลองใช้รูปแบบกับผู้บริหารสถานศึกษาอาสาสมัครที่ต้องการพัฒนา จำนวน 15 คน ใช้การทดสอบนัยสำคัญโดยการหาค่า Sign-test

ผลการวิจัยพบว่า

1. พฤติกรรมภาวะผู้นำทางวิชาการของผู้บริหารสถานศึกษา ที่มีค่าเฉลี่ยต่ำและต้องพัฒนาคือ ด้านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งมีองค์ประกอบ 6 ด้าน 66 ตัวบ่งชี้ ได้แก่

1) ด้านการบริหารจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในสถานศึกษา 12 ตัวบ่งชี้ 2) ด้านโครงสร้างพื้นฐานระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในสถานศึกษา 10 ตัวบ่งชี้ 3) ด้านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในการเรียนการสอน 11 ตัวบ่งชี้ 4) ด้านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารจัดกระบวนการเรียนรู้ 10 ตัวบ่งชี้ 5) ด้านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อมุ่งผลสัมฤทธิ์ 11 ตัวบ่งชี้ 6) ด้านการจัดการทรัพยากรการเรียนรู้ด้านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ 12 ตัวบ่งชี้

2. รูปแบบการพัฒนาภาวะผู้นำทางวิชาการของผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง มี 5 องค์ประกอบ คือ 1) หลักการของรูปแบบ 2) วัตถุประสงค์ของรูปแบบ 3) เนื้อหาของรูปแบบ 4) กระบวนการของรูปแบบ และ 5) การวัดและประเมินผล การดำเนินการในขั้นกระบวนการของรูปแบบแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ระยะก่อนปฏิบัติการ ระยะที่ 2 ระยะปฏิบัติการ ประกอบด้วย 1) การอบรมเข้ม และ 2) ประชุมปฏิบัติการรวม 6 ครั้ง โดยใช้คู่มือพัฒนาภาวะผู้นำทางวิชาการ 6 ชุด ประกอบการประชุมปฏิบัติการ และการศึกษาดูงานโรงเรียนดีเด่น 1 แห่ง ระยะที่ 3 ระยะติดตามผล โดยการประชุมและใช้แบบประเมินพฤติกรรมภาวะผู้นำทางวิชาการของผู้บริหารสถานศึกษา

3. ผลการทดลองใช้รูปแบบการพัฒนาภาวะผู้นำทางวิชาการของผู้บริหารสถานศึกษาทั้ง 3 ระยะ พบว่า หลังปฏิบัติการค่าเฉลี่ยของคะแนนประเมินภาวะผู้นำทางวิชาการของผู้บริหารสถานศึกษาสูงกว่าก่อนปฏิบัติการ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และระยะติดตามผลมีค่าเฉลี่ยของคะแนนประเมินสูงกว่าระยะหลังปฏิบัติการ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ผู้บริหารสถานศึกษามีความเห็นว่า รูปแบบการพัฒนาเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาภาวะผู้นำทางวิชาการของผู้บริหารสถานศึกษา เนื่องจากได้มีการเรียนรู้จากวิทยากร จากการศึกษาคู่มือจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้บริหารสถานศึกษาที่ร่วมปฏิบัติการด้วยกันตลอดจนได้เรียนรู้จากผู้บริหารสถานศึกษาดีเด่นที่ได้ไปศึกษาดูงาน

`

รูปแบบการพัฒนาภาวะผู้นำทางวิชาการของผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง A MODEL FOR DEVELOPING ACADEMIC LEADERSHIP OF SCHOOL ADMINITRATORS UNDER PRIMARY EDUCATIONAL SERVICE AREA OFFICES IN THE LOWER NORTHEASTERN REGION is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.