รูปแบบการบริหารการเสริมพลังอำนาจครูให้สามารถบูรณาการภาษาอังกฤษในการสอนเนื้อหาวิชาหลักของโรงเรียนมาตรฐานสากล
An Administration Model for Empowering Teachers to Integrate English in Teaching Content Subjects of World-Class Standard Schools

: ชื่อผู้วิจัย ประนอม ไชยวิชิต
: ตำแหน่ง -
: ครูและบุคลากรทางการศึกษา
: ปี 2559
: 414

logo onec

บทคัดย่อ (Abstract)

การวิจัยเรื่องรูปแบบการบริหารการเสริมพลังอำนาจครูให้สามารถบูรณาการภาษาอังกฤษในการสอนเนื้อหาวิชาหลักของโรงเรียนมาตรฐานสากลครั้งนี้ มีความมุ่งหมายหลักเพื่อสร้างและพัฒนารูปแบบการบริหารการเสริมพลังอำนาจครูให้สามารถบูรณาการภาษาอังกฤษในการสอนเนื้อหาวิชาหลักของโรงเรียนมาตรฐานสากล กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ โรงเรียนมาตรฐานสากลระดับมัธยมศึกษาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ศูนย์เครือข่ายการนิเทศการมัธยมศึกษา 14 (ศน.ม. 14 ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์) จำนวน 27 โรงเรียน ซึ่งได้จากการเลือกแบบเฉพาะเจาะจง การวิจัยใช้ระเบียบวิธีวิจัยแบบผสม ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน คือ 1. การศึกษาข้อมูลเพื่อร่างรูปแบบ ดำเนินการ 3 วิธี ได้แก่ 1) ศึกษาวิเคราะห์ สังเคราะห์ หลักการ ทฤษฎีจากตำรา เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง 2 ) สำรวจความต้องการเกี่ยวกับการเสริมพลังอำนาจของครู ให้สามารถบูรณาการภาษาอังกฤษในการสอนเนื้อหาวิชาหลักจากโรงเรียนมาตรฐานสากล 27 โรงเรียน 3) สัมภาษณ์แบบพหุกรณีศึกษาโรงเรียนต้นแบบบูรณาการภาษาอังกฤษในการสอนเนื้อหาวิชาหลัก 3 โรงเรียน 2. การร่างรูปแบบการบริหารจัดการการเสริมพลังอำนาจครูให้สามารถบูรณาการภาษาอังกฤษในการสอนเนื้อหาวิชาหลักของโรงเรียนมาตรฐานสากล โดยการวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาในขั้นตอนแรก 3. การประเมินร่างรูปแบบที่ได้จากขั้นตอนที่ 2 โดยวิธีการสนทนากลุ่ม กำหนดผู้ร่วมสนทนาจำนวน 10 คน และ 4. การประเมินความเป็นไปได้ในการนำรูปแบบไปใช้ในโรงเรียนมาตรฐานสากลโดยการตอบแบบประเมิน สถิติที่ใช้ ได้แก่ ค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน

ผลการสร้างรูปแบบการบริหารการเสริมพลังอำนาจครูให้สามารถบูรณาการภาษาอังกฤษในการสอนเนื้อหาวิชาหลักของโรงเรียนมาตรฐานสากลมีองค์ประกอบ 4 ด้าน ดังนี้

1. ปัจจัยนำเข้า ประกอบด้วย 4 ด้านย่อย ได้แก่ การนำองค์กร (Leadership) การวางแผนกลยุทธ์ (Strategic Planning) การมุ่งเน้นบุคลากร (Faculty and Staff Focus) และการจัดการทรัพยากรและเทคโนโลยี (Resources and technology Management)

2. กระบวนการ ประกอบด้วย 3 ด้านย่อย ได้แก่ การจัดการกระบวนการ (Process Management) กระบวนการเสริมพลังอำนาจครู (Process Management) และกระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน (Learning and Teaching Process)

3. ผลลัพธ์ ประกอบด้วย 2 ด้านย่อย ได้แก่ การเน้นผู้เรียนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Student and Stakeholder Focus) และการจัดการผลลัพธ์ (Performance Results Management)

4. ข้อมูลป้อนกลับ ประกอบด้วย 2 ด้านย่อย ได้แก่ การให้ข้อมูลป้อนกลับและการจัดการความรู้ (Feedback and Knowledge Management) และการจัดการข้อมูลสารสนเทศ (Information Technology Management)

ผลการประเมินความเป็นไปได้ในการนำรูปแบบไปใช้ในโรงเรียนมาตรฐานสากล พบว่า มีความเป็นไปได้ในระดับมากทุกด้าน

`

รูปแบบการบริหารการเสริมพลังอำนาจครูให้สามารถบูรณาการภาษาอังกฤษในการสอนเนื้อหาวิชาหลักของโรงเรียนมาตรฐานสากลAn Administration Model for Empowering Teachers to Integrate English in Teaching Content Subjects of World-Class Standard Schools is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.