การพัฒนาคู่มือการประเมินสมรรถนะบุคลากรศูนย์พึ่งได้
The Development of Personnel Competency Evaluation Manual of One Stop Crisis Centers

: ชื่อผู้วิจัย วัชราภรณ์ หุนตระนี
: ตำแหน่ง -
: ครูและบุคลากรทางการศึกษา
: ปี 2559
: 446

logo onec

บทคัดย่อ (Abstract)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ค้นหาสมรรถนะของบุคลากรศูนย์พึ่งได้ 2) เพื่อพัฒนาคู่มือการประเมินสมรรถนะของบุคลากรศูนย์พึ่งได้ และ 3) เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการนำคู่มือไปปฏิบัติ

การวิจัยครั้งนี้ ดำเนินการศึกษาตามกระบวนการวิจัยและพัฒนา แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 การศึกษาสมรรถนะบุคลากรศูนย์พึ่งได้ ด้วยเทคนิค EDFR (Ethnographic Delphi Future Research) โดยผู้เชี่ยวชาญจำนวน 17 คน ระยะที่ 2 กำหนดข้อรายการพฤติกรรมบ่งชี้สมรรถนะ โดยการสนทนากลุ่มมีผู้เข้าร่วมสนทนา จำนวน 9 คน นำข้อรายการพฤติกรรมบ่งชี้สมรรถนะสร้างแบบประเมินสมรรถนะแบบมาตราส่วนประมาณค่า 4 ระดับ และตรวจสอบความถูกต้อง โดยผู้เชี่ยวชาญ 3 คน สร้างคู่มือการประเมินสมรรถนะบุคลากรศูนย์พึ่งได้ ประกอบด้วย ส่วนที่ 1 วัตถุประสงค์ของการประเมินสมรรถนะ ส่วนที่ 2 คำแนะนำในการใช้คู่มือ ส่วนที่ 3 แบบประเมินสมรรถนะ ส่วนที่ 4 สรุปผลการประเมินสมรรถนะและแนวทางการพัฒนา ตรวจสอบความเป็นไปได้ในการนำคู่มือไปใช้ โดยผู้เชี่ยวชาญจำนวน 5 คน ระยะที่ 3 ศึกษาความเป็นไปได้ในการนำคู่มือไปปฏิบัติ โดยหัวหน้างานและผู้ปฏิบัติงานศูนย์พึ่งได้ จำนวน 46 คน

ผลการวิจัยพบว่า

1. สมรรถนะบุคลากรศูนย์พึ่งได้ประกอบด้วย 2 ด้าน จำนวน 20 สมรรถนะ ดังนี้

1.1 สมรรถนะทั่วไป จำนวน 14 สมรรถนะ ประกอบด้วย 1) ความรู้เรื่องบทบาทหน้าที่ของศูนย์พึ่งได้ 2) ความรู้เรื่องการซักประวัติการคัดกรอง 3) ความรู้เรื่องการตรวจร่างกาย 4) ความรู้เรื่องการบันทึกข้อมูลการให้บริการ 5) ความรู้เรื่องการประเมินครอบครัว 6) ความรู้เรื่องการประเมินความปลอดภัยและการป้องกันการถูกกระทำซ้ำ 7) ความรู้เรื่องการประเมินความรุนแรงด้านจิตใจ 8) ความรู้เรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 9) ความรู้และทักษะการให้การปรึกษาเบื้องต้น 10) ความรู้การประสานงานเครือข่ายและการส่งต่อ 11) ความรู้เรื่องการทำงานของสหวิชาชีพ 12) ความรู้เรื่องการจัดการรายกรณี 13) ความรู้เรื่องการประชุมปรึกษารายกรณี และ 14) ความรู้เรื่องการป้องกันและการเฝ้าระวังความรุนแรงในชุมชน

1.2 สมรรถนะเฉพาะทาง จำนวน 6 สมรรถนะ ประกอบด้วย 1) ความรู้เรื่องกรอบคิดเรื่องอำนาจ 2) ความรู้เรื่องความเป็นเพศ หรือเพศภาวะ 3) ความรู้เรื่องเพศวิถี 4) ความรู้เรื่องโครงสร้างความรุนแรงบนฐานความเป็นเพศ 5) ความรู้เรื่องลักษณะอาการของผู้ประสบความรุนแรงบนพื้นฐานความเป็นเพศ และ 6) ความรู้และทักษะการให้การปรึกษาแบบฟื้นฟูอำนาจศักยภาพ

2. ผลการพัฒนาคู่มือการประเมินสมรรถนะบุคลากรศูนย์พึ่งได้ เมื่อผ่านการตรวจสอบพบว่า คู่มือการประเมินสมรรถนะบุคลากรศูนย์พึ่งได้มีความเหมาะสมอยู่ในระดับสูง

3. ผลการศึกษาความเป็นไปได้ในการนำคู่มือการประเมินสมรรถนะบุคลากรศูนย์พึ่งได้ไปปฏิบัติ พบว่า คู่มือการประเมินสมรรถนะบุคลากรศูนย์พึ่งได้มีความเป็นไปได้ในการนำไปปฏิบัติอยู่ในระดับสูง

`

การพัฒนาคู่มือการประเมินสมรรถนะบุคลากรศูนย์พึ่งได้The Development of Personnel Competency Evaluation Manual of One Stop Crisis Centers is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.