รูปแบบการจัดการเรียนรู้ในที่ทำงานเพื่อพัฒนาสมรรถนะประจำสายงานครูโรงเรียนเอกชน
A Model of Workplace Learning Management to Develop Functional Competency for Private School Teachers
: ชื่อผู้วิจัย สงกรานต์ พันธุ์พินิจ
: ตำแหน่ง -
: ครูและบุคลากรทางการศึกษา
: ปี 2558
: 301
บทคัดย่อ (Abstract)
การวิจัยครั้งนี้มีความมุ่งหมายเพื่อ 1) ศึกษาความต้องการพัฒนาสมรรถนะประจำสายงานครูโรงเรียนเอกชน 2) สร้างและพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ในที่ทำงานเพื่อพัฒนาสมรรถนะประจำสายงานครูโรงเรียน และ 3) ประเมินรูปแบบการจัดการเรียนรู้ในที่ทำงานเพื่อพัฒนาสมรรถนะประจำสายงานครูโรงเรียนเอกชน โดยมีวิธีดำเนินการวิจัยแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ศึกษาความต้องการพัฒนาสมรรถนะประจำสายงานครู ประกอบด้วย 2 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่ 1 การวิจัยเอกสารศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ขั้นตอนที่ 2 การวิจัยเชิงสำรวจสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับระดับความต้องการพัฒนาสมรรถนะประจำสายงานครูโรงเรียนเอกชน ระยะที่ 2 สร้างและพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ในที่ทำงานเพื่อพัฒนาสมรรถนะประจำสายงานครูโรงเรียนเอกชน ประกอบด้วย 2 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่ 1 การศึกษาพหุกรณีศึกษา ขั้นตอนที่ 2 พัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ในที่ทำงานเพื่อพัฒนาสมรรถนะประจำสายงานครูโรงเรียนเอกชน และ ระยะที่ 3 การประเมินรูปแบบการจัดการเรียนรู้ในที่ทำงานเพื่อพัฒนาสมรรถนะประจำสายงานครูโรงเรียนเอกชน
ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้
1. ความต้องการพัฒนาสมรรถนะประจำสายงานครูโรงเรียนเอกชนโดยรวม มีความต้องการพัฒนาอยู่ในระดับมาก และด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดคือ ด้านการสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือกับชุมชนเพื่อการจัดการเรียนรู้ รองลงมา คือ ด้านภาวะผู้นำ
2. สร้างและพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ในที่ทำงานเพื่อพัฒนาสมรรถนะประจำสายงานครูโรงเรียนเอกชนได้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ในที่ทำงานเพื่อพัฒนาสมรรถนะประจำสายงานครูโรงเรียนเอกชน มีส่วนร่วมประกอบ 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 หลักการของรูปแบบการจัดการเรียนรู้ในที่ทำงานประกอบด้วย 11 องค์ประกอบ คือ การตั้งเป้าหมาย การบูรณาการ การเน้นสมรรถนะ ความยืดหยุ่น ความเป็นระบบการเรียนรู้แบบผู้ใหญ่ การสร้างแรงจูงใจ ความรับผิดชอบ การปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล การกำกับติดตามและการสนับสนุน ส่วนที่ 2 ลักษณะของรูปแบบการจัดการเรียนรู้ในที่ทำงานเพื่อพัฒนาสมรรถนะประจำสายงานครูโรงเรียนเอกชนได้แก่ 1) ระบบย่อยภายในโรงเรียน ซึ่งประกอบด้วยระบบย่อยภายในโรงเรียน 4 ด้าน คือ ด้านคน ด้านโครงสร้าง ด้านงานและด้านเทคโนโลยี 2) วงจรการจัดการเรียนรู้ในที่ทำงานประกอบด้วยการดำเนินงาน 4 ขั้นตอน คือ การประเมินสภาพการจัดการเรียนรู้ การออกแบบการจัดการเรียนรู้ การปฏิบัติการเรียนรู้ในที่ทำงาน และการประเมินผลการจัดการเรียนรู้ในที่ทำงาน 3) สมรรถนะประจำสายงานครู ประกอบด้วย 6 ด้าน คือ การบริหารหลักสูตรและการจัดการเรียนรู้การพัฒนาผู้เรียน การบริหารจัดการชั้นเรียน การวิเคราะห์สังเคราะห์และการวิจัยเพื่อพัฒนาผู้เรียน ภาวะผู้นำครู และการสร้างความสัมพันธ์และร่วมมือกับชุมชนเพื่อการจัดการเรียนรู้ ส่วนที่ 3 แนวทางการนำรูปแบบการจัดการเรียนรู้ในที่ทำงานเพื่อพัฒนาสมรรถนะประจำสายงานครูโรงเรียนเอกชนไปใช้มีแนวปฏิบัติ สรุปได้ดังนี้ 1) กำหนดเป็นเป้าหมายที่ชัดเจน 2) วางแผนการจัดการเรียนรู้ในที่ทำงาน 3) สร้างความตระหนักและความเข้าใจ 4) สร้างแรงจูงใจ 5) พัฒนาความสามารถของบุคลากร 6) สื่อสาร 7) จัดช่วงเวลาให้มีการพบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ 8) จัดทำคู่มือ และ 9) ดำเนินการใช้รูปแบบกับครูกลุ่มตัวอย่างในโรงเรียนเอกชนเพื่อนำไปปรับปรุงพัฒนาใช้ได้กับครูทั้งโรงเรียน และส่วนที่ 4 เงื่อนไขหรือข้อจำกัดของการนำรูปแบบการจัดการเรียนรู้ในที่ทำงานเพื่อพัฒนาสมรรถนะประจำสายงานครูโรงเรียนเอกชนไปใช้ คือ ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จ ประกอบด้วย 1) การสนับสนุนอย่างจริงจังจากผู้บริหารในการอำนวยการใช้การจัดการเรียนรู้ในที่ทำงาน 2) การมีบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถที่ส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ในที่ทำงาน 3) การจัดการเรียนรู้ในที่ทำงานสอดคล้องกับสภาพการปฏิบัติงาน 4) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างเป็นระบบเพื่อเอื้อต่อการจัดการเรียนรู้ในที่ทำงานถ้า 5) การมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย 6) การมีขวัญและกำลังใจที่มีต่อการทำงาน 7) การบริหารงานของโรงเรียนที่เป็นระบบ และ 8) บรรยากาศขององค์กรที่มีความร่วมมือร่วมใจกันในการทำงาน
3. ผลการประเมินความเหมาะสมของรูปแบบการจัดการเรียนรู้ในที่ทำงานเพื่อพัฒนาสมรรถนะประจำสายงานครูโรงเรียนเอกชนโดยผู้บริหารและครู พบว่า มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก
รูปแบบการจัดการเรียนรู้ในที่ทำงานเพื่อพัฒนาสมรรถนะประจำสายงานครูโรงเรียนเอกชนA Model of Workplace Learning Management to Develop Functional Competency for Private School Teachers is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.